กระเจี๊ยบแดง

ชื่อสมุนไพร : กระเจี๊ยบแดง
ชื่ออื่น ๆ
:  กระเจี๊ยบเปรี้ยว(ภาคกลาง), ส้มเก็งเค็ง, ผักเก็งเค็ง(ภาคเหนือ), ส้มปู(เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), ส้มตะเลงเครง(ตาก) ,ส้มพอเหมาะ
ชื่อสามัญ : Jamaican Sorrel, Rosella
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hibiscus sabdariffa Linn.
ชื่อวงศ์ : MALVACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกระเจี๊ยบแดง ไม้ล้มลุก ลักษณะลำต้นเป็นทรงพุ่ม อายุปีเดียว สูงประมาณ 1 – 2 เมตร ขนาดลำต้นประมาณ 1 – 2 ซม. แตกกิ่งก้านมากมายตั้งแต่โคนต้น เปลือกต้นเรียบ ต้นอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่ลำต้นและกิ่งก้านสีแดงเข้มหรือสีแดงอมม่วง เปลือกลำต้นบางเรียบ สามารถลอกเป็นเส้นได้
    กระเจี๊ยบแดง
  • ใบกระเจี๊ยบแดง เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามความสูงของกิ่ง ลักษณะใบรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ยาวประมาณ 7 – 13 ซม. มีขนปกคลุมทั้งด้านบนด้านล่าง ขอบใบเป็นแฉกคล้ายนิ้วมือ 3 นิ้ว หรือเป็น 5 แฉก ระยะห่างระหว่างแฉก 0.5 – 3 ซม. ลึกประมาณ 3 – 8 ซม. มีหูใบเป็นเส้นเรียวยาว 0.8 – 1.5 ซม. โคนใบสอบเรียว ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบมน แต่ละแฉกมีรูปใบหอก ขอบใบเป็นจักฟันเลื่อย มีเส้นใบ 3 – 7 เส้น สีแดง ใบด้านล่างนูนเด่น โคนเส้นกลางใบด้านท้องใบมีต่อม 1 ต่อม แผ่นใบสีเขียวเกลี้ยง ก้านใบยาว 4 – 15 ซม. มีขนรูปดาวปกคลุม ใบที่มีอายุน้อย และใบใกล้ดอกจะมีขนาดเล็กรูปไข่
    กระเจี๊ยบแดง
  • ดอกกระเจี๊ยบแดง เป็นดอกเดี่ยว ดอกแทงออกตามซอกใบตั้งแต่โคนกิ่งถึงปลายกิ่ง ดอกมีก้านดอกสั้น สีแดงม่วง ดอกมีกลีบเลี้ยง ประมาณ 5 กลีบ หุ้มดอกบนสุด มีขนาดใหญ่ มีลักษณะอวบหนา มีสีแดงเข้มหุ้มดอก และกลีบรองดอก ที่เป็นกลีบด้านล่างสุด มีขนาดเล็ก 8 – 12 กลีบ มีสีแดงเข้ม กลีบทั้ง 2 ชนิดนี้ จะติดอยู่กับดอกจนถึงติดผล และผลแก่ ไม่มีร่วง ดอกเมื่อบานจะมีกลีบดอกสีเหลืองหรือสีชมพูอ่อนหรือสีขาวแกมชมพู บริเวณกลางดอกมีสีเข้ม ส่วนของดอกมีสีจางลง เมื่อดอกแก่กลีบดอกจะร่วง ทำให้กลีบรองดอก และกลีบเลี้ยงเจริญขึ้นมาหุ้ม เกสรเพศผู้จำนวนมาก
    กระเจี๊ยบแดง
  • ผลกระเจี๊ยบแดง เจริญจากดอก เป็นผลแห้งแตกได้ ลักษณะรูปรีปลายแหลมหรือรูปไข่ ยาวประมาณ 2.5 ซม. มีจงอยสั้นๆ มีจีบตามยาว และถูกหุ้มด้วยกลีบเลี้ยงสีแดงเข้ม ติดทนขนาดใหญ่รองรับอยู่จนผลแก่ มีขนหยาบๆ สีเหลืองปกคลุม
    กระเจี๊ยบแดง
  • เมล็ดกระเจี๊ยบแดง ส่วนในของเมล็ดรูปไต เป็นสีน้ำตาลจำนวนมาก

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ยอด, ใบ, กลีบเลี้ยง, เมล็ด (ยอดและใบใช้สด กลีบเลี้ยงใช้ตากแห้ง และใบสด เมล็ด ใช้เมล็ดที่ตากแห้ง)

สรรพคุณ กระเจี๊ยบแดง :

  • ดอก ขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา
  • ใบ รสเปรี้ยว ขับเสมหะ ช่วยย่อยอาหาร ทำให้โลหิตไหลเวียนดี ขับปัสสาวะ ขับเมือกในลำไส้ลงสู่ทวารหนัก แก้โรคพยาธิตัวจี๊ด
  • ยอดและใบ รสเปรี้ยว เป็นยาบำรุงธาตุ ยาระบาย ละลายเสมหะ ขับปัสสาวะ ช่วยย่อยอาหาร หรือต้มชะล้างบาดแผล หรือนำใบมาโขลกให้ละเอียดใบประคบฝี
  • กลีบเลี้ยง รสเปรี้ยว ขับนิ่วในไต ขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ขับเมือกมันให้ลงสู่ทวารหนัก แก้เสมหะ ขับปัสสาวะ ลดไข้ แก้ไอ แก้นิ่ว แก้กระหายน้ำ ละลายไขมันในเส้นเลือด ชงกับน้ำรับประทานเพื่อลดความดัน ลดไขมันในเลือด ทำแยม
  • ผล รสจืด ลดไขมันในเส้นเลือด รักษาแผลในกระเพาะ แก้กระหายน้ำ บำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย และแก้อ่อนเพลีย
  • เมล็ด รสเมา ยาแก้อ่อนเเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ดีพิการ แก้โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ขับปัสสาวะ ขับน้ำดี ลดไขมันในเส้นเลือด ขับเหงื่อ เป็นยาระบาย และกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ
  • ทั้งห้า รสเปรี้ยว เป็นยาขับเมือกมันให้ลงสู่ทวารหนัก แก้พยาธิตัวจี๊ด
  • ทั้งต้น เป็นยาฆ่าตัวจี๊ด นำมาใส่หม้อต้ม น้ำ 3 ส่วน เคี่ยวไฟให้งวดเหลือ 1 ส่วน ผสมกับน้ำผึ้งครึ่งหนึ่ง รับประทานวันละ 3 เวลา หรือรับประทานน้ำยาเปล่าๆ จนหมดน้ำยา

[su_spoiler title=”ลดไขมันในเส้นเลือด” icon=”arrow”]วิธีและปริมาณที่ใช้ : โดยนำเอากลีบเลี้ยง หรือกลีบรองดอกสีม่วงแดง ตากแห้งและบดเป็นผง ใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา (หนัก 3 กรัม) ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (250 มิลลิลิตร) ดื่มเฉพาะน้ำสีแดงใส ดื่มวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันทุกวันจนกว่าอาการขัดเบาและอาการอื่นๆ จะหายไป[/su_spoiler]

[su_spoiler title=”สารเคมี” icon=”arrow”]ดอก พบ Protocatechuic acid, hibiscetin, hibicin, organic acid, malvin, gossypetin[/su_spoiler]

[su_spoiler title=”คุณค่าด้านอาหาร” icon=”arrow”]น้ำกระเจี๊ยบแดง มีรสเปรี้ยว นำมาต้มกับน้ำ เติมน้ำตาล ดื่มแก้ร้อนใน กระหายน้ำ และช่วยป้องกันการจับตัวของไขมันในเส้นเลือดได้ และยังนำมาทำขนมเยลลี่ แยม หรือใช้เป็นสารแต่งสี ใบอ่อนของกระเจี๊ยบเป็นผักได้ หรือใช้แกงส้ม รสเปรี้ยวกำลังดี กระเจี๊ยบเปรี้ยวมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “ส้มพอเหมาะ” ในใบมี วิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา ส่วนกลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีสารแคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง น้ำกระเจี๊ยบแดงที่ได้สีแดงเข้ม สาร Anthocyanin นำไปแต่งสีอาหารตามต้องการ[/su_spoiler]


เอกสารอ้างอิง

  1. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. คัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : พิมพลักษณ์, 2547.
  2. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้.  ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544.  ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม).  พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด.  2544
  3. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 25.
Scroll to top