เฉียงพร้านางแอ

เฉียงพร้านางแอ

ชื่อสมุนไพร : เฉียงพร้านางแอ
ชื่ออื่นๆ
: สีฟันนางแอ(เหนือ), นกข่อ, ส้มป้อง(เชียงใหม่), บงคด(พร), โองนั่ง(อุตรดิตถ์), แก็ก, วงคด, องคต(ลำปาง), แคแห้ง, ต่อไส้, สันพร้านางแอ(กลาง), ร่มคมขวาน(กรุงเทพมหานคร), ขิงพร้า(ตราด, ประจวบคีรีขันธ์), บงมัง(ปราจีนบุรี, อุตรดิตถ์), ม่วงมัง, หมักมัง(ปราจีนบุรี), สีฟัน(ใต้), เขียงพร้านางแอ(ชุมพร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carallia brachiata (Lour.) Merr.
ชื่อวงศ์ : RHIZOPHORACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นเฉียงพร้านางแอ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 25-30 เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นตั้งตรง เรือนยอดทรงพุ่มรูปกรวยกว้างทึบ เปลือกสีน้ำตาลอมแดงถึงน้ำตาลอมเทา ผิวเรียบ มีรูอากาศมาก หรืออาจพบเปลือกต้นหนาแตกเป็นร่องลึกตามยาว อาจพบลักษณะคล้ายรากค้ำจุนแบบ prop root เป็นเส้นยาว หรือออกเป็นกระจุกตามลำต้น หรือส่วนโคนต้น
  • ใบเฉียงพร้านางแอ เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปวงรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 4-7 เซนติเมตร ยาว 7-10 เซนติเมตร หลังใบสีเขียวเข้ม เป็นมันหนา ท้องใบสีอ่อนกว่า และมีจุดสีดำกระจาย ปลายใบมนมีติ่งเล็ก ฐานใบสอบแหลม ขอบใบเรียบเป็นคลื่น มีหูใบหุ้มยอดอ่อน เมื่อร่วงจะเห็นรอยแผล บริเวณข้อพองเล็กน้อย แผ่นใบเกลี้ยง หนาและเหนียว ก้านใบยาว 0.4-1 เซนติเมตร
  • ดอกเฉียงพร้านางแอ ช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง แตกแขนงเป็น 4 กิ่ง ดอกย่อยจำนวนมากขนาดเล็ก มักเรียงตัวแน่นเป็นช่อกลม ไม่มีก้านดอกย่อย กลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกขนาดเล็ก รูปร่างเป็นแผ่นกลม สีเขียวอมเหลือง เกสรเพศผู้มี 10-16 อัน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง รูปร่างเกือบเป็นแผ่นตรง
  • ผลเฉียงพร้านางแอ ผลสดแบบมีเนื้อ รูปทรงกลม ขนาดเล็ก ออกเป็นกระจุก เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-1 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงด้านบน คล้ายมงกุฎ ผิวผลเป็นมัน มีเนื้อบางสีเขียวห่อหุ้ม  ผลแก่สีส้มปนแดง
  • เมล็ดเฉียงพร้านางแอ รูปไตสีน้ำตาลเข้มหรือดำ มีเยื่อหนาสีส้ม รับประทานได้

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เปลือกต้น, ต้น

สรรพคุณ เฉียงพร้านางแอ :

  • เปลือกต้น รสฝาดเย็นหวาน แก้ไข้  แก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับเสมหะ และโลหิต ปิดธาตุ สมานแผล แก้บิด แก้พิษผิดสำแดง
  • ต้น แก้ไข้ บำรุงร่างกาย และช่วยเจริญอาหาร
Scroll to top