ชื่ออื่น ๆ : กระต่ายจันทร์, หญ้าจาม(เชียงใหม่), กะต่าย, หญ้ากะต่ายจาม, หญ้าต่ายจาม, กะต่ายจาม, กระต่ายจาม(ภาคกลาง), หญ้ากระจาม(สุราษฎร์), หญ้าจาม(ชุมพร), เหมือดโลด(นคาราชสีมา), โฮ่วเกี๋ยอึ้มเจี๋ยะเช้า (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Centipeda minima (Linn.) A.Br. & Ascher.
ชื่อวงศ์ : COMPOSITAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นกระต่ายจันทร์ เป็นพรรณไม้ล้มลุกฤดูเดียว ที่มีลำต้นทอดนอนเลื้อยแผ่ไปตามพื้นดินที่ชื้นเย็น ลำต้นมีขนาดเล็กและแตกกิ่งก้านมาก ส่วนปลายจะแตกกิ่งก้านชูตั้งขึ้นเล็กน้อย หรืออาจชูได้สูงถึง 15-30 เซนติเมตร ลำต้นที่ยังอ่อนอยู่จะมีขนยุ่งขึ้นปกคลุมคล้ายใยแมงมุม หรือบางต้นก็ค่อนข้างเรียบ ลำต้นเป็นสีเขียวอ่อน มีกลิ่นเหม็นเล็กน้อย
- ใบกระต่ายจันทร์ ใบเป็นใบเดี่ยวขนาดเล็ก ออกเรียงสลับ ใบจะเกิดจากต้นโดยตรงโดยที่ไม่มีก้าน ลักษณะของใบเป็นรูปช้อนแกมขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบสอบ ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยห่าง ๆ หรือหยักเว้าเป็นง่ามข้างละ 2-3 หยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-7 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4-20 มิลลิเมตร
- ดอกกระต่ายจันทร์ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นตามซอกใบ ดอกย่อยเรียงตัวอัดกันแน่นเป็นรูปเกือบกลม หรือมีลักษณะกลมแบน ปลายกลมจักเป็นซี่ ๆ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ก้านช่อดอกสั้นมากหรือไม่มีก้านดอก โคนช่อมีใบประดับรองรับเป็นรูปช้อนขนาดเล็กจำนวนมากเรียงซ้อนประมาณ 2 ชั้น อยู่โดยรอบฐานรองดอกที่เป็นแผ่นกลมขนาดเล็กและนูนเล็กน้อย ดอกเพศเมียจะมีขนาดเล็กมากและมีจำนวนมาก เรียงเป็นวงบนฐานดอกล้อมรอบดอกสมบูรณ์เพศซึ่งมีขนาดเล็กกว่าและมีจำนวนน้อยกว่า ดอกเพศเมียจะมีกลีบดอกเป็นสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดเรียว สั้นมาก ปลายแยกออกเป็นแฉก 2-3 แฉก รังไข่เล็ก ก้านเกสรเพศเมียสั้น
- เมล็ดกระต่ายจันทร์ ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ลักษณะของผลมักเป็นสี่เหลี่ยมรูปรีหรือเป็นรูปเกือบขอบขนาน มีขนาดเล็กมาก ยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ลำต้น, ใบ, เมล็ด
สรรพคุณ กระต่ายจันทร์ :
- ลำต้น รสเฝื่อนหอม เป็นยาแก้ระงับพิษ ดับพิษสุรา แก้โรคเยื่อบุตาอักเสบ บำรุงสายตาดี ริดสีดวงทวาร โรคมาลาเรีย ฟันผุ เกี่ยวกับทางเดินอาหาร ใส่แผล วิธีการใช้ ด้วยนำเอาลำต้นที่แห้งทำเป็นยาชง ดื่มกิน หรืออาจใช้ลำต้นสด เอามาตำให้ละเอียดแล้วทำเป็นยาพอกที่แก้มแก้โรคปวดฟัน
- ใบและเมล็ด รสเฝื่อนหอม ใช้บดเป็นผงเป็นยาทำให้จาม
- เมล็ด รสเฝื่อนหอม ใช้เป็นยาขับพยาธิ