ข้าวเย็นเหนือ

ข้าวเย็นเหนือ

ชื่อสมุนไพร : ข้าวเย็นเหนือ
ชื่ออื่น :
  ข้าวเย็นโคกแดง, ค้อนกระแต, หัวข้าวเย็นเหนือ, หัวข้าวเย็นวอก, ยาหัวข้อ (อุบลราชธานี), หัวยาข้าวเย็น, ข้าวเย็นวอก (ภาคเหนือ), หัวยาจีนปักษ์เหนือ (ภาคใต้), เสี้ยมโค่ฮก, เสี้ยมโถ่ฮก (จีนแต้จิ๋ว), ถู่ฝุหลิง และ หงถู่หลิง (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Smilax corbularia Kunth.
ชื่อวงศ์ : Smilacaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ข้าวเย็นเหนือ เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ลงหัว เลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น หรือตามพื้นดิน อาจยาวได้ถึง 5 เมตร ลำต้นกลมหรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย เถามีหนาม กระจายห่างๆ หัวมีเนื้อแข็ง
  • ใบข้าวเย็นเหนือ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี ถึงรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง 2.5-7 เซนติเมตร ยาว 5-18 เซนติเมตร ปลายกลมหรือเว้าตื้น และเป็นติ่งแหลมสั้น โคนกลม ขอบเรียบ แผ่นใบหนา คล้ายแผ่นหนัง ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นใบหลัก 5-7 เส้น มี 3 เส้นกลาง ที่เด่นชัดกว่าเส้นที่เหลือด้านข้าง  เชื่อมกับเหนือโคนใบ 3-5 มิลลิเมตร ก้านใบยาว 0.5-2 เซนติเมตร มือจับยาวได้ถึง 12 เซนติเมตร
  • ดอกข้าวเย็นเหนือ ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม 1-3 ช่อดอก ออกที่ซอกใบ ใกล้ปลายกิ่ง ดอกแยกเพศต่างต้น ใบประดับย่อยรูปไข่กว้าง ดอกสีเขียว กลีบรวม 6 กลีบ รูปรี หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กลีบวงในมักแคบกว่ากลีบวงนอก ช่อดอกเพศผู้มี 20-40 ดอกต่อช่อ เกสรเพศผู้มีจำนวน 6 อัน  อับเรณูรูปขอบขนาน ช่อดอกเพศเมียมี 15-30 ดอกต่อช่อ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรี ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1-2 เมล็ด มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 3 อัน รูปคล้ายเข็ม 
  • ผลข้าวเย็นเหนือ  ทรงกลม แบบผลมีเนื้อ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-6 มิลลิเมตร มี 1 หรือ 2 เมล็ด

ส่วนที่ใช้เป็นยา : หัว, ต้น, ใบ, ผล

สรรพคุณ ข้าวเย็นเหนือ :

  • หัว มีรสมันกร่อยหวานเล็กน้อย แก้ประดง แก้มะเร็งคุดทะราด แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้น้ำเหลืองเสีย แก้เส้นเอ็นพิการ แก้กามโรค เข้าข้อออกดอก เข้าข้อ ฝีแผลเน่าเปื่อยพุพอง ทำให้แผลฝียุบแห้ง แก้ประดง แก้เม็ดผื่นคัน ดับพิษในกระดูก แก้ปัสสาวะพิการ แก้อักเสบในร่างกาย นิยมใช้คู่กันทั้งข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้ เรียกว่า ข้าวเย็นทั้งสอง
  • ต้น รสจืดเย็น แก้ไข้เรื้อรัง ไข้ตัวร้อน
  • ใบ รสจืดเย็น แก้ไข้เหนือ แก้ไข้สันนิบาต
  • ผล รสขื่นจัด แก้ลมริดสีดวง

ข้าวเย็นเหนือ

Scroll to top