โกฐกระดูก

โกฐกระดูก

ชื่อสมุนไพร : โกฐกระดูก
ชื่ออื่นๆ
: บักเฮียง (จีนแต้จิ๋ว), มู่เชียง (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Saussurea lappa Clarke
ชื่อวงศ์ : Compositae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นโกฐกระดูก จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นมีขนาดเล็กและมีขนขึ้นปกคลุม ไม่แตกกิ่งก้านสาขา
    โกฐกระดูก
  • ใบโกฐกระดูก ใบมีขนาดใหญ่ เป็นใบเดี่ยวคล้ายรูปสามเหลี่ยม โคนใบเว้าเข้าหากัน ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยลักษณะคล้ายหนาม หน้าใบเป็นสีเขียวและมีขนหยาบ ๆ ขึ้นปกคลุม ส่วนหลังใบเป็นสีเขียวอ่อนอมเหลือง
  • ดอกโกฐกระดูก ก้านดอกยาว ดอกเป็นสีม่วงเข้ม
  • ผลโกฐกระดูก ผลมีลักษณะเป็นเส้นแบนยาว เมื่อผลแก่จะแตกออก

ส่วนที่ใช้เป็นยา : รากแห้ง

สรรพคุณ โกฐกระดูก :

  • ราก แก้เสมหะและลม แก้หืด หอบ แก้ลมในกองเสมหะ บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื้น บำรุงกระดูก แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย แก้ปวด
  • ตำรายาไทยใช้ปรุงเป็นยาหอมรับประทานแก้ลมวิงเวียนหน้ามืดตาลายขับลมในลำไส้ แก้โรคโลหิตจาง

โกฐกระดูก

ตำรายาไทย: 
           มีการนำโกฐกระดูกมาใช้ในหลายตำรับ เช่น “พิกัดตรีทิพย์รส” คือการจำกัดจำนวนของที่มีรสดี 3 อย่าง คือโกฐกระดูก เนื้อไม้ และอบเชยไทย มีสรรพคุณบำรุงธาตุ บำรุงกระดูก บำรุงตับปอดให้เป็นปกติ แก้ลมในกองเสมหะ บำรุงโลหิต “พิกัดสัตตะปะระเมหะ” คือการจำกัดจำนวนตัวยาแก้เสมหะมีกลิ่น 7 อย่าง คือ ต้นตำแยทั้ง 2 ต้นก้นปิด ลูกกระวาน ผลรักเทศ ตรีผลาวะสัง และโกฐกระดูก มีสรรพคุณชำระมลทินโทษให้ตกไป แก้อุจจาระธาตุลามก ชำระเมือกมันในลำไส้

บัญชียาจากสมุนไพร: 
           ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้โกฐกระดูกในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่

  1. ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของโกฐกระดูกอยู่ในพิกัดโกฐทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง
  2. ยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของโกฐกระดูกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ
               โกฐกระดูกเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ เป็นพืชเฉพาะถิ่นในที่ชื้นทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเทือกเขาหิมาลัย ปัจจุบันปลูกมากที่อินเดีย เนปาล ภูฎาน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม ไทยสั่งนำเข้ามาจากอินเดียและจีน และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ”     โกฐกระดูก จัดอยู่ใน โกฐทั้งเจ็ด(สัตตโกฐ) และโกฐทั้งเก้า(เนาวโกฐ)
               เครื่องยา“พิกัดโกฐ” ประกอบด้วย “พิกัดโกฐทั้ง 5” ได้แก่ โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา “พิกัดโกฐทั้ง 7” (มีโกฐกระดูก และโกฐก้านพร้าว เพิ่มเข้ามา) “พิกัดโกฐทั้ง 9”  (มีโกฐพุงปลา และโกฐชฎามังษี เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดโกฐ คือ แก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง ขับลม แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ผงยา 200 มิลลิกรัม ถึง 1 กรัม ต่อวัน

องค์ประกอบทางเคมี:
           มีองค์ประกอบเป็นน้ำมันระเหยง่าย องค์ประกอบหลักเป็นสารกลุ่ม sesquiterpene lactone และพบ สารกลุ่ม อัลคาลอยด์  ฟลาโวนอยด์ แอนทราควิโนน เป็นต้น

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
           ขับพยาธิ ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา คลายกล้ามเนื้อเรียบ ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาการ กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะและลำไส้ ต้านการอักเสบ ต้านมะเร็ง  ต้านการเกิดออกซิเดชั่น ขับน้ำดี ต้านการเกิดพิษต่อตับ ฯลฯ

Scroll to top