ชื่อสมุนไพร : กะตังกะติ้ว
ชื่ออื่นๆ : หมากยาง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ศรีสะเกษ, อุบลราชธนี, สุรินทร์), คุยกาย, คุยช้าง (ปราจีนบุรี), คุยหนัง (ระยอง, จันทบุรี), อีคุย (ปัตตานี), บักยาง, เครือยาง, คุย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Willughbeia edulis Roxb.
ชื่อวงศ์ : APOCYNACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นกะตังกะติ้ว ไม้เถาเนื้อแข็ง รอเลื้อยขนาดใหญ่ มีมือเกาะ เลื้อยได้ไกล 10-15 เมตร แตกกิ่งจำนวนมาก เปลือกต้นสีน้ำตาล ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางสีขาวขุ่น
- ใบกะตังกะติ้ว เป็นใบเดี่ยว จะออกใบเรียงกันเป็นคู่ๆ ไปตามข้อต้นลักษณะของใบ เป็นรูปมนรี ปลายใบจะแหลมและเป็นติ่ง โคนใบมนหรือแหลม ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีสีเขียวด้านบนเป็นมัน ขนาดขอใบนั้นกว้างประมาณ 1.5-2.5 นิ้ว ยาว 4-6 นิ้ว มีก้านใบยาว 0.5-1 นิ้ว
- ดอกกะตังกะติ้ว ดอกช่อแบบช่อกระจุก ออกที่ซอกใบและปลายยอด ยาว 1.0-2.5 ซม. ก้านช่อดอกยาว 1-2 มม. มีขนเล็กน้อย มีดอกย่อย 5-6 ดอก ก้านดอกยาว 1-3 มม. มีขนสั้นๆ กระจายทั่วไป ใบประดับ 1 อัน รองรับดอกหรือช่อดอกรูปสามเหลี่ยมหรือรูปไข่ กว้าง 1.0-1.5 มม. ยาว 1.0-2.5 มม. ขอบมีขนครุย กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ยาวประมาณ 4 มม. ปลายแยกเป็น 5 แฉก โคนหลอดกลีบรูปถ้วยสั้นๆ ปลายแฉกมน รูปไข่ กว้าง 1.0-1.5 มม. ยาว 2-3 มม. ขอบมีขนครุย กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกรูปขอบขนาน สีขาวปนสีเหลือง เรียงบิดเวียนแบบขวาทับซ้าย ส่วนหลอดยาว 6-7 มม. ส่วนแฉกยาว 9-12 มม. ผิวเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อยที่ส่วนปลายกลีบด้านนอก เกสรเพศผู้มี 5 อัน อับเรณูยาว 1.0-1.5 มม. ติดด้านหลัง ก้านชูอับเรณูสั้น เกลี้ยง สีเหลือง เกสรเพศเมีย รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ มี 1 คาร์เพล 1 ช่อง 23-46 ออวุล รังไข่ยาว 0.5-1.0 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาว 2-3 มม. เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียแยกสองแฉกตื้นๆ สีเหลืองมีขนเล็กน้อย ดอกเมื่อบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-2.5 เซนติเมตร
- ผลกะตังกะติ้ว ผลเดี่ยวแบบผลสดมีเนื้อหลายเมล็ด ทรงกลมหรือรูปไข่ ขนาด 5.8-7.2 ซม. เปลือกผลค่อนข้างหนา สีเขียว ผิวเกลี้ยง เมื่อสุกสีเหลืองถึงส้ม มีน้ำยางสีขาวมาก ก้านผลยาว 0.8-1.2 ซม. มีขนเล็กน้อย เมล็ดรูปไข่ กว้าง 1.2-1.6 ซม. ยาว 1.9-2.8 ซม. เนื้อผลลื่นติดกับเมล็ด เปลือกหุ้มผลมีน้ำยางมาก ลักษณะเหนียวสีขาว มีเมล็ดประมาณ 1-3 เมล็ด ผลสุกรับประทานได้มีรสเปรี้ยวอมหวาน
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ต้น, ราก, ยาง
สรรพคุณ กะตังกะติ้ว :
- ต้น ใช้เป็นยาแก้พิษ แก้โรคคุดทะราด และตับพิการ
- ราก ในมาเลเซีย นำรากมาต้มกับน้ำทานกาเป็นยารักษาโรคดีซ่านที่เกิดจากโรคมาลาเรีย หรือดื่มแก้เจ็บคอ เจ็บหน้าอก และนำรากมาตำให้ละเอียดใช้ทาแก้โรคตัวเหลืองในทารกด้วย
- ยาง เด็ดเอายางของต้นมาทาแก้โรคคุดทะราด
[su_quote]เยื่อสีเหลืองในผลแก่กินได้ คนพื้นเมืองใช้ยางดักนก โดยเอายางนี้ไปทาไว้ตามแหล่งที่นกจะมาเกาะหรือทาไม้แล้วนำไปปักไว้ เมื่อนกมาเกาะหรือผ่านขนจะติดจนดิ้นไม่หลุด[/su_quote]