กันเกรา

กันเกรา

ชื่อสมุนไพร : กันเกรา
ชื่ออื่นๆ :
  มันปลา(ตะวันออกเฉียงเหนือ เหนือ), ตราเตรา(เขมร), ปันปลา(กบินทร์), ตำเสา, ทำเสา(ใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Fagraea fragrans Roxb.
ชื่อวงศ์ : Loganiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกันเกรา เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 20-30 เมตร ลำต้นแตกกิ่งต่ำ ปลายกิ่งลู่ลงสู่พื้นดิน เรือนยอดแน่นเป็นรูปกรวยคว่ำ เปลือกนอกหยาบ หนา สีน้ำตาลเข้มหรือสีเทาปนดำ แตกเป็นร่องลึกตามยาวไม่เป็นระเบียบ เปลือกในสีน้ำตาล กระพี้สีเหลือง
  • ใบกันเกรา ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 6-12 เซนติเมตร ปลายแหลมยาว โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่า ก้านใบยาว 0.6-1.8 เซนติเมตร มีหูใบระหว่างก้านใบคล้ายรูปถ้วยเล็กๆ
  • ดอกกันเกรา ช่อดอกออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว 5-10 เซนติเมตร แยกแขนงสั้นๆ มีดอกจำนวนมาก เมื่อบานเต็มที่กว้าง 1.6-2.2 เซนติเมตร กลิ่นหอมเย็น ดอกแรกบานสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนถึงเหลืองอมส้มเมื่อร่วงหล่น กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ติดกันคล้ายรูประฆัง ยาว 2-3 มิลลิเมตร กลีบดอก 5 กลีบ ติดกันคล้ายรูปแจกัน ยาว 1.3-2.2 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 5 แฉก ปลายกลีบมน เกสรเพศผู้ 5 อัน ยาว 1.8-2.3 เซนติเมตร ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก รังไข่มี 2 ช่อง ยอดเกสรเพศเมียบวมพองคล้ายหมวกเห็ด ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก
  • ผลกันเกรา ผลมีเนื้อ กลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 6-8 มิลลิเมตร มักมีติ่งแหลมสั้นๆ ติดอยู่ที่ปลายสีส้มอมเหลืองแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อผลแก่ มีรสขม ผลแก่ไม่แตก มีเมล็ดเล็กมากจำนวนมาก

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, แก่น

สรรพคุณ กันเกรา :

  • ใบ แก้ไข้มาลาเรีย แก้หอบหืด บำรุงธาตุ และรักษาโรคผิวหนังพุพอง
  • แก่น รสมันฝาดขม บำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ บำรุงไขมัน เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ไข้จับสั่น หืด ไอ แก้ริดสีดวง แก้ท้องมาน แก้ท้องเดิน มูกเลือด แก้พิษฝีกาฬ แก้แน่นหน้าอก บำรุงม้าม บำรุงโลหิต ขับลม แก้โลหิตพิการ แก้ปวดแสบปวดร้อน ตามผิวหนังและร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ
Scroll to top