คูน

ชื่อสมุนไพร : คูน,
ชื่ออื่น ๆ
 : ลมแล้ง (ภาคเหนือ), ชัยพฤกษ์, ราชพฤกษ์ (ภาคกลาง), ลักเคย , ลักเกลือ (ปัตตานี ), กีเพยะ (กะเหรี่ยง), ปูโย, ปีอยู, เปอโช, แมะหล่าหยู่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เช็งเชียชัวเพียงเต่า, อาเหล็กปก(จีน)
ชื่อสามัญ : Golden Shower, Indian Laburnm, Puddingping Tree, Purging Cassiai
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula Linn.
ชื่อวงศ์ CAESALPINIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นคูน ไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 10-15 เมตร เปลือกต้นเกลี้ยง สีขาวอมเทา แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลม
  • ใบคูน เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคู่ ออกเรียงสลับ ใบย่อย 3-8 คู่ เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 7-12 เซนติเมตร แกนกลางใบประกอบยาว 30-40 เซนติเมตร ฐานใบมน ปลายใบแหลม ขอบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบเกลี้ยง ค่อนข้างบาง หูใบมีขนาดเล็กและร่วงง่าย
  • ดอกคูน เป็นช่อแบบช่อกระจะ สีเหลืองสด ออกตามซอกใบหรือปลายยอด 1-3 ช่อ เป็นช่อห้อยลงเป็นโคมระย้า ยาว 20-40 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดบานกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่แกมรูปรี ผิวด้านนอกมีขน กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง รูปไข่ ปลายมน เกสรตัวผู้ 10 อัน สั้น 7 อัน ยาว 3 อัน อับเรณูมีขนาดเล็ก ก้านเกสรตัวเมีย และรังไข่มีขนยาวคล้ายไหม
  • ผลคูน เป็นฝักยาว รูปแท่งกลม กว้าง 1.5-2.5  เซนติเมตร ยาว 20-60 เซนติเมตร ฝักอ่อนสีเขียว ฝักแก่สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ผิวเรียบเกลี้ยง เปลือกฝักแข็งกรอบ ฝักแก่ไม่แตก แต่จะหลุดร่วงทั้งฝัก และหักแตกเป็นชิ้น ภายในฝักจะมีผนังกั้นเป็นช่องๆ แต่ละช่องมีเมล็ด 1 เมล็ด
  • เมล็ดคูน  มีเนื้อเหนียวเปียกสีดำหุ้ม มีรสหวาน เมล็ดแบนรี สีน้ำตาล มีเมล็ด 50-70 เมล็ด

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เนื้อในฝัก, ใบ, ดอก, เปลือกต้น, แก่น, กระพี้, ราก, เมล็ด

สรรพคุณ คูน :

  • เนื้อในฝักคูน รสหวานเอียน แก้ท้องผูก ขับเสมหะ ระบายพิษไข้ ช่วยระบายท้องเด็ก เป็นยาระบายที่ไม่ปวดมวน ใช้ในเด็กหรือสตรีมีครรภ์ ท้องผูกเรื้อรัง แก้ไข้มาลาเรีย บิด แก้ตานขโมย ใช้พอกแก้ปวดข้อ ระบายพิษโลหิต แก้ร้อนในกระหายน้ำ บรรเทาอาการแน่นหน้าอก ฟกช้ำ ชำระน้ำดี แก้ลมเข้าข้อและขัดข้อ ถ่ายโรคกระษัย ถ่ายเส้นเอ็น
  • ใบคูน รสเมา ใช้ระบายท้อง ฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ แก้ฝีและเม็ดผื่นคันตามร่างกาย ฆ่าพยาธิผิวหนัง ตำพอกแก้ปวดข้อ แก้ลมตามข้อ แก้อัมพาต
  • ใบอ่อนคูน แก้ไข้รูมาติก
  • ดอกคูน รสเปรี้ยว ขม ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ ระบายท้อง แก้พรรดึก แก้แผลเรื้อรัง พุพอง แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม เป็นยาหล่อลื่นลำไส้ รักษาโรคกระเพาะอาหาร ขับพยาธิไส้เดือน แก้ตกเลือด
  • เปลือกต้นคูน รสฝาดเมา แก้ท้องร่วง ฝนผสมกับหญ้าฝรั่น น้ำตาล น้ำดอกไม้เทศ กินแล้วทำให้เกิดลมเบ่งในการคลอดบุตร สมานแผล แก้ไข้ แก้ฝีคุดทะราด แก้โรคในทรวงอก แก้ฟกบวมในท้อง แก้ปวดมวน แก้เม็ดผื่นคันในร่างกาย แก้ตกเลือด แก้บวม แก้พยาธิ แก้ฝีเปื่อยพัง
  • แก่นคูน รสเมา ขับพยาธิไส้เดือน แก้กลากเกลื้อน ระบายพิษไข้ กินกับหมาก
  • กระพี้คูน รสเมา แก้รำมะนาด แก้ปวดฟัน
  • รากคูน รสเมา แก้กลากเกลื้อน ฆ่าเชื้อคุดทะราด ระบายพิษไข้ แก้เซื่องซึม แก้หายใจขัด แก้ไข้ รักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจ ถุงน้ำดี เป็นยาระบายท้อง รักษาขี้กลาก แก้ลงท้อง แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม แก้พยาธิ แก้ตกเลือด
  • เปลือกรากคูน รสฝาด ต้มดื่ม ระบายพิษไข้ แก้ไข้มาลาเรีย
  • เปลือกเมล็ดและเปลือกฝักคูน ถอนพิษเบื่อเมา ทำให้อาเจียน
  • เมล็ดคูน ใช้ถ่ายพยาธิ แก้ตานซางตัวร้อน มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว เปลือกและใบ บดผสม ทาฝี และเม็ดตามร่างกาย

[su_spoiler title=”วิธีและปริมาณที่ใช้ : ” icon=”arrow”]
โดยเอาเนื้อในฝักแก่ก้อนเท่าหัวแม่มือ (ประมาณ 4 กรัม) น้ำ 1 ถ้วยแก้วต้มกับน้ำใส่เกลือเล็กน้อย ดื่มก่อนนอนหรือตอนก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว
***เหมาะเป็นยาระบายสำหรับคนที่ท้องผูกเป็นประจำและสตรีมีครรภ์[/su_spoiler]

Scroll to top