ชื่ออื่นๆ : ช้างน้าว
ชื่ออื่นๆ : ตาลเหลือง(เหนือ), แง่ง(บุรีรัมย์), ตานนกกรด(นครราชสีมา), กำลังช้างสาร(กลาง), ขมิ้นพระต้น(จันทบุรี), ช้างโน้ม(ตราด), ช้างโหม(ร้อยเอ็ด), ฝิ่น(รบ), กระแจะ, กระโดงแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ochna integerrima Merr.
ชื่อวงศ์ : OCHNACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นช้างน้าว เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ สูงได้ถึง 12 เมตร กิ่งก้านแผ่ขยายออก ลำต้นมักคดงอ เปลือกสีน้ำตาลเข้ม ลำต้นแตกเป็นสะเก็ดเป็นร่องลึก ตามปลายกิ่งมีกาบหุ้มตาแข็งและแหลม
- ใบช้างน้าว เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ มักพบเรียงชิดกันเป็นกลุ่ม ที่ปลายกิ่ง ใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ กว้าง 2.5-5.5 ซม. ยาว 12-17 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม พบบ้างที่ปลายมน โคนแหลมหรือมน ขอบใบจักฟันเลื่อยถี่ ผิวใบเรียบ เส้นใบข้าง 7-15 คู่ หักโค้งงอ และมีเส้นระหว่างกลาง ไม่จรดกัน ก้านใบ ยาว 2-3 มม. ใบแก่เขียวหม่น เหนียวเหมือนแผ่นหนัง มีหูใบเล็กๆ หลุดร่วงง่าย ทิ้งร่องรอยไว้บนกิ่งก้าน
- ดอกช้างน้าว แบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ซอกใบและใกล้ปลายกิ่งที่ไม่มีใบ มักออกดอกพร้อมแตกใบใหม่ แต่ละช่อมี 4-8 ดอก กลีบดอกสีเหลืองสด เวลาบานมักมีสีเหลืองทั้งต้น ช่อยาว 3.5-6 ซม. ก้านช่อดอกยาว 2-5 มม. ดอกจำนวนมาก เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4.5 ซม. ก้านดอกยาว 2-4 ซม. ใกล้โคนก้าน มีลักษณะเป็นข้อต่อ ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงง่าย กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน สีแดง กว้าง 5-8 มม. ยาว 10-15 มม. ผิวทั้งสองด้านเรียบ กลีบดอก 5-8 กลีบ สีเหลืองสด กลีบบอบบาง หลุดร่วงง่าย ฐานกลีบแคบ กลีบรูปไข่กลับ กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 1.5-3 ซม. ปลายกลีบมนหรือกลม โคนสอบเรียว คล้ายก้านกลีบ ขอบหยัก เกสรเพศผู้จำนวน 32-50 อัน ก้านชูอับเรณู ยาว 0.5-1.2 ซม. ขนาดไม่เท่ากัน วงนอกยาวกว่าวงใน อับเรณู ยาว 5-6 มม. อับเรณูมีช่องเปิดอยู่ด้านปลาย ฐานรองดอกพองนูน รูปครึ่งวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2.5 มม. ขยายขนาดและมีสีแดงเมื่อเป็นผล รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ คาร์เพล 6-12 อัน แต่ละอันมี 1 ช่อง และมีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียมี 1 อัน ยาว 1.2-2 ซม. ติดกับฐานของรังไข่ ปลายแยก 6-10 แฉก สั้นๆ ยอดเกสรเพศเมีย มีจำนวนพูเท่ากับคาร์เพล
- ผลช้างน้าว ผลสด แบบผลผนังชั้นในแข็ง ผลค่อนข้างกลม กว้าง 8-9 มม. ยาว 1-1.2 ซม. มีสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีดำ ผิวมัน ผลมีก้านเกสรตัวเมียคงเหลืออยู่ และมีกลีบเลี้ยงสีแดงสดเจริญตามมารองรับ มีเมล็ด 1 เมล็ด ชั้นหุ้มเมล็ดแข็งขนาดใหญ่ มีเนื้อบางๆหุ้ม
ส่วนที่ใช้เป็นยา :ต้น, ราก, ผล, เปลือกต้น
สรรพคุณ ช้างน้าว :
- ต้น ต้มน้ำดื่มบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง แก้กระษัย แก้ปวดเมื่อย
- ราก ขับพยาธิ แก้โรคน้ำเหลืองเสีย บำรุงกำลัง ต้มน้ำดื่มแก้ผิดสำแดง แก้ปวดหลัง แก้เบาหวาน
- ผล รสมันสุขุม เป็นยาบำรุงร่างกาย
- เปลือกต้น รสขม เป็นยาแก้ไข้ ขับผายลม บำรุงหัวใจ
- เปลือกนอก บดเป็นผงมีสีเหลืองสด ทาแก้สิวฝ้า เนื้อไม้ รสจืดเย็น แก้กระษัย ดับพิษร้อน แก้โลหิตพิการ
[su_quote cite=”The Description”]ต้นช้างน้าว ผสมกับต้นนมสาว รากลกครก รากน้ำเต้าแล้ง เถาตาไก้ อย่างละเท่ากัน ต้มกินเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงน้ำนม[/su_quote]