Flacourtia indica

ตะขบป่า

ชื่อสมุนไพร : ตะขบป่า
ชื่ออื่นๆ :
 เบนโคก (อุบลราชธานี), ตานเสี้ยน, มะแกว๋นนก, มะแกว๋นป่า, มะขบ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Flacourtia indica (Burm.f.) Merr.
ชื่อวงศ์ : Flacourtiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นตะขบป่า เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ สูง 2-15 เมตร ลำต้น และกิ่งใหญ่ๆมีหนามแหลม กิ่งแก่ๆมักจะไม่มีหนาม กิ่งอ่อนมีหนามแหลมตามซอกใบ หนามยาว 2-4 เซนติเมตร เรือนยอดแผ่กว้าง ปลายกิ่งโค้งลง เปลือกสีเหลืองอมเทาแตกเป็นร่องลึก มีช่องอากาศรูปรีกระจายห่างๆ
  • ใบตะขบป่า เป็นเดี่ยว เรียงเวียนสลับ ขนาดค่อนข้างเล็ก มักเรียงชิดกันเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง รูปร่าง ขนาด เนื้อใบ และขนที่ปกคลุมแตกต่างกัน ส่วนใหญ่แผ่นใบรูปไข่กลับ กว้าง 1.5-3 เซนติเมตร ยาว 2-4 เซนติเมตร ปลายกลม โคนสอบแคบ ขอบใบค่อนข้างเรียบ หรือจัก มักจักใกล้ปลายใบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงถึงมีขนสั้นหนานุ่มทั้งสองด้าน ใบอ่อนและเส้นกลางใบสีแดงอมส้ม เส้นแขนงใบมี 4-6 คู่ เส้นใบย่อยสานกันเป็นร่างแห พอเห็นได้ลางๆ ก้านใบยาว 3-5 มิลลิเมตร ก้านใบสีเขียวหรือแดง มีขน ก้านใบยาว 3-8 มิลลิเมตร
  • ดอกตะขบป่า แบบช่อกระจะ ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามซอกใบ และปลายกิ่ง มีขน ดอกย่อยจำนวนน้อย ดอกขนาดเล็ก สีขาว แยกเพศอยู่คนละต้น ที่โคนช่อมีใบประดับ บางทีมีหนาม ก้านดอกยาว 3-5 เซนติเมตร มีขน กลีบดอก 5-6 กลีบ รูปไข่ ปลายมน ยาว 1.5 มิลลิเมตร ด้านนอกค่อนข้างเกลี้ยง ด้านในและที่ขอบกลีบมีขนแน่น ดอกแยกเพศ ดอกเพศผู้ จานฐานดอกแยกเป็นแฉกเล็กน้อย หรือหยักมน มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ก้านเกสรยาว 2-2.5 มิลลิเมตร มีขนเฉพาะที่โคน ดอกเพศเมีย จานฐานดอกเรียบ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีรังไข่กลม ปลายสอบแคบ มี 1 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียมี 5-6 อัน ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร แต่ละก้านปลายแยกเป็นสองแฉก และม้วนออก กลีบเลี้ยง 5-6 กลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ปลายมน ผิวด้านนอกเกลี้ยง ด้านในและขอบมีขนหนาแน่น
  • ผลตะขบป่า ลักษณะกลม หรือรี เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.8-1 เซนติเมตร ออกเดี่ยว หรือเป็นกลุ่ม เป็นพวงเล็กๆ ตามกิ่ง เมื่ออ่อนสีเขียว สุกสีแดงคล้ำ ลักษณะชุ่มน้ำ มี 5-8 เมล็ด มีก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ที่ปลายผล รับประทานได้ รสหวานอมฝาด

ส่วนที่ใช้เป็นยา : แก่น, ราก, ทั้งต้น, เปลือก, ใบ, น้ำยางจากต้น

สรรพคุณ ตะขบป่า :

  • แก่น รสฝาดขื่นต้มน้ำดื่ม แก้ท้องร่วง บิดมูกเลือด ขับเหงื่อ ขับพยาธิไส้เดือน แก้ตานขโมย แก้โรคผิวหนัง ประดง ผื่นคัน
  • ราก รสหวานฝาดร้อน กินแก้ไตอักเสบ แก้ตานขโมย ขับพยาธิไส้เดือน บำรุงน้ำนม แก้โรคปอดบวม
  • ทั้งต้นหรือราก แก้โรคผิวหนัง ประดง ผื่นคันตามตัว
  • ลำต้น ผสมหัวเอื้องหมายนา ผักแว่นทั้งต้น หอยขมเป็นๆ 3-4 ตัว แช่น้ำให้เด็กอาบ แก้อีสุกอีใส อีดำอีแดง
  • น้ำยางจากต้น ใช้แก้อหิวาตกโรค
  • เปลือก แก้เสียงแห้ง อมกลั้วคอแก้เจ็บคอ
  • น้ำยางจากต้นและใบสด กินเป็นยาลดไข้สำหรับเด็ก แก้โรคปอดอักเสบ แก้ไอ แก้บิดและท้องเสีย ช่วยย่อย
  • เปลือก ตำรวมกับน้ำมัน ใช้ทาถูนวด แก้ปวดท้อง แก้คัน นำเปลือกมาแช่หรือชงเป็นยากลั้วคอ
  • ใบแห้ง น้ำต้มกินเป็นยาฝาดสมาน ขับเสมหะ แก้หืดหอบ หลอดลมอักเสบ แก้ไข้ แก้ไอ แก้ท้องร่วง ขับลม และบำรุงร่างกาย ใบที่ย่างไฟจนแห้งใช้ชงกินหลังคลอดบุตร
  • เมล็ด ตำพอกแก้ปวดข้อ ผล กินได้มีวิตามินซีสูง แก้อ่อนเพลีย บรรเทาอาการโรคดีซ่าน ม้ามโต แก้คลื่นไส้อาเจียน และเป็นยาระบาย
Scroll to top