ผักกูด

ชื่อสมุนไพร : ผักกูด
ชื่ออื่นๆ :
ผักกูดขาว (ชลบุรี), หัสดำ (นครราชสีมา, สุราษฎร์ธานี), กูดน้ำ (แม่ฮ่องสอน), ไก้กวิลุ ปู่แปลเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Diplazium esculentum (Retz.) Sw.
ชื่อวงศ์ : ATHYRIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นผักกูด เหง้าตั้งตรง อาจสูงได้มากกว่า 1 ม. มีเกล็ดสีน้ำตาลเข้ม ขอบดำ ขอบเกล็ดหยักซี่ฟัน เกล็ดกว้างประมาณ 1 มม. ยาวประมาณ 1 ซม.
  • ใบผักกูด ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น แผ่นใบมีขนาดต่างๆ กัน มักยาวมากกว่า 1 ม. ก้านใบยาวประมาณ ผักกูด70 ซม. กลุ่มใบย่อยคู่ล่างๆ มักลดขนาด กว้างประมาณ 25 ซม. ยาวประมาณ 40 ซม. ปลายเรียวแหลม ใบย่อยกว้างประมาณ 2.5 ซม. ยาวประมาณ 13 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปกึ่งหัวใจหรือรูปติ่งหู ขอบหยักเว้าลึกเป็นแฉกเกือบถึงเส้นกลางใบย่อย แฉกปลายมน ขอบหยักซี่ฟัน แผ่นใบบาง เส้นใบแยกสาขาแบบขนนกยื่นเข้าไปในแต่ละแฉก เส้นใบย่อยมีประมาณ 10 คู่ สานกับเส้นใบที่อยู่ในแฉกติดกันเป็นร่างแห ก้านใบย่อยสั้นหรือไม่มี กลุ่มอับสปอร์อยู่ตามความยาวของเส้นใบย่อย มักเชื่อมกับกลุ่มอับสปอร์ที่อยู่ในแฉกติดกันซึ่งมีเส้นใบมาสานกัน

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ

สรรพคุณ ผักกูด :

  • ใบ รสเย็น แก้ไข้ตัวร้อน แก้พิษอักเสบ บำรุงสายตา บำรุงโลหิต แก้โลหิตจาง
    ป้องกันเลือดออกตามไรฟันและขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลในเม็ดเลือด

ผักกูด เป็นผักที่มีรสจืดอมหวานและกรอบ ยอดอ่อนและใบอ่อนนิยมนำมาบริโภค โดยนำมาปรุงเป็นอาหารได้อย่างหลากหลาย ด้วยการนำมายำ ผัด ทำเป็นแกงจืด แกงเลียง แกงส้ม แกงแคร่วมกับผักชนิดต่าง ๆ ต้มกะทิ ฯลฯ ส่วนเมนูผักกูดก็เช่น ยำผักกูด ผักกูดผัดน้ำมันหอย แกงจืดผักกูดหมูสับ ไข่เจียวผักกูด ผัดกับไข่หรือแหนม นำมาแกงกับปลาน้ำจืด ทำเป็นแกงกะทิกับปลาย่าง หรือนำมาราดด้วยน้ำกะทิรับประทานร่วมกับน้ำพริกหรือแกงรสจืด ส่วนชาวอีสานจะรับประทานยอดสดร่วมกับลาบ ก้อย ยำ ส้มตำ ปลาป่น หรือจะนำไปดัดแปลงเป็นเมนูอื่น ๆ ก็ทำได้ไม่ยาก

นอกจากนี้ยังนิยมนำมาใช้ลวกหรือต้มให้สุก จิ้มกินกับน้ำพริก ใช้เป็นผักจิ้มกินกับน้ำพริกตาแดง น้ำพริกถั่ว หรือน้ำพริกต่าง ๆ แต่จะไม่นิยมนำมารับประทานแบบสด ๆ เพราะจะมียางเป็นเมือกอยู่ที่ก้าน โดยในช่วงหน้าแล้งผักกูดจะมีรสชาติอร่อยกว่าฤดูอื่น

Scroll to top