พุดทุ่ง

ชื่อสมุนไพร : พุดทุ่ง
ชื่ออื่นๆ :
หัสคุณใหญ่, ถั่วหนู(สุราษฎร์ธานี), หัสคุณเทศ(พังงา), โมกเกี้ย(สระบุรี), โมกเตี้ย(สระบุรี ภาคใต้), โมกนั่ง(ภาคเหนือ), พุดน้ำ, พุดป่า, นมราชสีห์, นมเสือ, น้ำนมเสือ, พุดทอง, พุดนา, มูกน้อย, มูกนิ่ง, มูกนั่ง, โมกน้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Holarrhena curtisii King & Gamble
ชื่อวงศ์ : APOCYNACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นพุดทุ่ง เป็นไม้พุ่ม ขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 1-2 เมตร เปลือกสีเทา แตกเป็นสะเก็ด ลำต้นมีกิ่งก้านไม่มาก มีน้ำยางสีขาวขุ่นเมื่อหักตามลำต้น กิ่งก้านและใบ เปลือกต้นมีสีน้ำตาลดำ กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่ม
  • ใบพุดทุ่ง ใบเดี่ยว เนื้อหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน รูปไข่กลับ หรือรูปวงรีแกมขอบขนานเรียง ตรงกันข้ามสลับฉาก  กว้าง 2.5-5 เซนติเมตร ยาว 7-12 เซนติเมตร มีขนนุ่มละเอียดทั้ง 2 ด้าน ปลายเป็นติ่งหนาม ฐานใบมน ขอบใบเรียบ หลังใบมีขนปกคลุม ผิวใบมีขนนุ่มทั้งสองด้าน ผิวใบด้านล่างมีสีขาวนวลกว่าด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ 12-16 เส้น ก้านใบสั้น ยาว 2-4 มิลลิเมตร หรือไม่มี
  • ดอกพุดทุ่ง ดอกช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบ และปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 12 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่ม ใบประดับพุดทุ่งเล็ก แคบยาว 2-5 มิลลิเมตร มีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกสีขาวหนา โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาว 8-15 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกันและเวียนขวา รูปไข่กลับถึงรูปรี กว้าง 4-8 มิลลิเมตร ยาว 1.2-2 เซนติเมตร ปลายกลม มีขนทั้งสองด้าน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ เกสรเพศผู้มี 5 อัน โคนก้านชูอับเรณูมีขนสั้นนุ่ม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ คาร์เพลเชื่อม 2 อัน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปแถบกว้าง 0.8-1.2 มิลลิเมตร ยาว 2.5-8 มิลลิเมตร มีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน ดอกบานเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 1-1.5 เซนติเมตร
  • ผลพุดทุ่ง เป็นฝักคู่ กลมยาว รูปคล้ายดาบ ปลายผลชี้ขึ้น ขนาดกว้าง 1.5-5 เซนติเมตร ยาว 7-30 เซนติเมตร แตกตะเข็บเดียว เมล็ดมีสีน้ำตาล มีกระจุกขนสีขาว คล้ายเส้นไหม

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ต้น, ราก

สรรพคุณ พุดทุ่ง :

  • ราก ต้มน้ำดื่ม แก้บิด ถ่ายเป็นมูกเลือด แก้ท้องเสีย หรือผสมรากติ้วขน ต้มน้ำดื่มแก้ผิดสำแดง
  • ต้น และราก มีรสร้อน ใช้ขับเลือด ขับลม กระจายเลือดลม
  • ราก ผสมกับ อ้อยดำ ข้าวสารเจ้า แช่น้ำดื่มแก้อาเจียน
Scroll to top