พู่ระหง

ชื่อสมุนไพร : พู่ระหง
ชื่ออื่นๆ :
 ชุบบาห้อย (ปัตตานี), พู่ระหง (กรุงเทพฯ), หางหงส์ (พายัพ), พู่ระโหง พู่เรือหงส์ หางหงส์ (ภาคกลาง)
ชื่อสามัญ : Fringed hibiscus, Coral Hibiscus, Japanese Lantern, Spider gumamela
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hibiscus schizopetalus (Dyer ex Mast.) Hook. f.
ชื่อวงศ์ : Malvaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นพู่ระหง เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขามากออกรอบ ๆ ต้น และมักโค้งลงสู่พื้นดิน เปลือกลำต้นและใบมียางเหนียว กิ่งอ่อนเป็นสีเขียว
  • ใบพู่ระหง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับไปตามกิ่งก้าน ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีหรือรูปไข่ ปลายใบแหลมมีติ่งหาง โคนใบมน ส่วนขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร แผ่นใบบางสีเขียวเป็นมัน ก้านใบเป็นสีเขียว
  • ดอกพู่ระหง ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามส่วนยอดของปลายกิ่ง ดอกสีแดงสด หรือดอกมีหลายสี (แดง ส้ม พู่ระหงชมพู) มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบแคบ ขอบกลีบดอกหยักเว้าลึกเป็นแฉกๆ เมื่อดอกบานเต็มที่ปลายกลีบดอกจะงองุ้มเข้าหาก้านดอก กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว ก้านดอกสีเขียว ยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก เกสรเพศผู้เป็นสีเหลือง ก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นหลอดล้อมรอบเกสรเพศเมีย อับเรณูติดที่บริเวณปลายดอก เกสรเพศเมียปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก โผล่พ้นเกสรเพศผู้ ดอกห้อยคว่ำลงพื้น มีส่วนก้านเกสรห้อยลงต่ำ
  • ผลพู่ระหง ผลเป็นผลแห้งมีจะงอย เมื่อแก่จะแตก ผลมีขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ ราก

สรรพคุณ พู่ระหง :

  • ใบ และราก ใช้เป็นยารักษาอาการไข้ในเด็ก รักษาอาการเจ็บคอ และอาการไอ

คนไทยสมัยก่อนนิยมนำดอกพู่ระหงมาใช้สระผม เช่นเดียวกับการใช้ดอกอัญชันและผลมะกรูดย่างไฟ โดยเชื่อกันว่าจะช่วยทำให้ผมดกดำ ผมไม่ร่วงและแตกปลาย และจะปลูกต้นพู่เรือหงส์ไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และผู้ปลูกควรปลูกในวันพุธ (โบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาประโยชน์ทั่วไปทางดอกให้ปลูกในวันพุธ)

Scroll to top