มะกล่ำตาหนู

ชื่อสมุนไพร : มะกล่ำตาหนู
ชื่ออื่น ๆ
: กล่ำตาไก่, มะกล่ำเครือ, กล่ำเครือ, มะแค้ก, มะกล่ำแดง (ภาคเหนือ-เชียงใหม่), ชะเอมเทศ, ตากล่ำ (ภาคกลาง), เกมกรอม (สุรินทร์), มะขามเถา, ไม้ไฟ (ตรัง), โทวกำเช่า, เซียงจือจี้ (จีน-แต้จิ๋ว)
ชื่อสามัญ : American Pea, Prayer Beads, Rosary. Pea, Crab is Eye Vine
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Abrus precatorius Linn.
ชื่อวงศ์ : PAPILIONACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นมะกล่ำตาหนู เป็นพรรณไม้เถา มีลำต้นเล็กยาว ลำต้นมีขนสั้น ๆ ขึ้นประปราย
  • ใบมะกล่ำตาหนู ใบออกเป็นใบรวม มีใบย่อยเรียงสลับกันคล้ายขนนก ยาวประมาณ 1.5-4 นิ้ว ใบย่อยออกเรียงกันประมาณ 8-20 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปกลมรี หรือกลมยาว ปลายใบแหลมมน โคนใบกลมมน ริมขอบใบเรียบ พื้นผิวใบเกลี้ยง ใบมีขนาดยาวประมาณ 5-20 มม. กว้างประมาณ 3-8 มม. ใต้ท้องใบมีขนขึ้นเล็กน้อย
  • ดอกมะกล่ำตาหนู ดอกออกเป็นช่อ หรือเป็นกระจุกแน่นติดกัน ซึ่งออกตามบริเวณง่ามใบ ลักษณะของดอกมีกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวเรียงซ้อนกันไปตามเข็มนาฬิกา กลีบมีรอยหยัก 4 รอย มีสีขาว ผิวข้างนอกมีขนนุ่มปกคลุม มีความยาวประมาณ 3 มม. กลีบดอกด้านล่างมีกลีบแหลมเล็กอยู่ 3 กลีบ กลีบด้านบนมีขนาดใหญ่กว่ากลีบด้านบน ดอกคล้ายดอกจำพวกตระกูลถั่ว
  • ผลมะกล่ำตาหนู ผลมีลักษณะเป็นฝัก ตัวฝักพองเป็นคลื่นเมล็ด ลักษณะของฝักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนมะกล่ำตาหนูปลายฝักจะแหลมยื่นออกมา ฝักอ่อนมีสีเขียว เนื้อเปลือกฝักจะเหนียว เมื่อแก่ หรือแห้ง ฝักนั้นจะแตกอ้าออกจากกัน ข้างในฝักมีเมล็ดอยู่ 1-5 เม็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมรี มีสีแดง บริเวณขั้วมีจุดสีดำ ผิวเรียบเกลี้ยง เมล็ดเหนียวและแข็ง

 

 

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ลำต้น, ราก, ใบ, เมล็ด

สรรพคุณ มะกล่ำตาหนู :

  • ลำต้นและราก  ใช้ลำต้นและรากแห้ง ใช้ประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มเอานำกินเป็นยาแก้เจ็บคอ ไอแห้ง ขับปัสสาวะ หลอดลมอักเสบ ตับอักเสบ และเป็นโรคดีซ่าน
  • ใบ  ใช้ใบสด ประมาณ 20-30 กรัม (แห้ง 10-15 กรัม) นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ ตับอักเสบ กระตุ้นน้ำลาย ขับปัสสาวะ หล่อลื่นปอด แก้ปวดบวมตามข้อ ปวดตามแนวประสาท หรือใช้ภายนอกโดยนำมาตำให้ละเอียดแล้วใช้น้ำผึ้งหรือน้ำมันพืชผสม ใช้ทาหรือพอก บริเวณที่บวมเจ็บ หรือจุดด่างดำบนใบหน้า
  • เมล็ด ใช้เมล็ดแห้ง ใช้เฉพาะทาภายนอก นำมาบดให้ละเอียด ผสมกับน้ำ น้ำมันมะพร้าว หรือเกลือ ใช้พอกหรือทา กลากเกลื้อน หิด ฝีมีหนอง แก้โรคผิวหนัง บวมอักเสบ และใช้เป็นยาฆ่าแมลง

ข้อห้ามใช้ : เมล็ดมีพิษมาก ห้ามใช้รับประทาน เมล็ดมีโปรตีนที่มีพิษ ประมาณ 0.5 มก. มีผลทำให้เกิดอาการเป็นพิษได้

Scroll to top