ชื่อสมุนไพร : มะเดื่อหอม
ชื่ออื่นๆ : เดื่อขน(เหนือ), หาด(เชียงใหม่), นอดน้ำ(ลำปาง), มะเดื่อขน(นครราชสีมา), นมหมา(นครพนม), นอดหอม, มะเดื่อเตี้ย(จันทบุรี), เดื่อหอมเล็ก, เดื่อหอมใหญ่(ตราด), พุงหมู(อุบลราชธานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus hirta Vahl.
ชื่อวงศ์ : Moraceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นมะเดื่อหอม เป็นไม้พุ่ม ขนาดเล็ก มีน้ำยางขาว ไม่ค่อยแตกกิ่ง มีรากเก็บสะสมอาหารเป็นหัวใต้ดิน มีกลิ่นหอม สูงได้ถึง 10 เมตร ลำต้น และกิ่งก้านมีขนแข็ง สากคาย สีน้ำตาลแกมเหลืองอ่อน เมื่อแก่ลำต้นจะกลวง ตาดอกและใบอ่อนมีขนหนาแน่น
- ใบมะเดื่อหอม ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปขอบขนาน รูปไข่แกมขอบขนาน รูปขอบขนานแกมไข่กลับ หรือรูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 5-12 เซนติเมตร ยาว 12-25 เซนติเมตร ใบมีพูลึก 3-5 พู หรือขอบเรียบ ฐานใบเบี้ยว ปลายใบแหลมติ่ง ขอบใบจักฟันเลื่อย มีขนทั้งสองด้านของใบ ใบด้านบนมีขนหยาบ สีน้ำตาลอมเหลือง ประปราย ขนยาวและหยาบบนเส้นใบ ด้านล่างขนอ่อนนุ่มกว่า ใบมักแบ่งเป็น 3-5 พู ที่ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในต้นอ่อน ใบแก่บาง เส้นใบที่ฐานยาวน้อยกว่า ½ ของใบ เส้นใบข้าง 7-9 เส้น ก้านใบยาว 2-11 เซนติเมตร มีหูใบแหลม 0.8-2 เซนติเมตร กิ่งก้านมักจะกลวง และที่ข้อพองออกในต้นอ่อน
- ดอกมะเดื่อหอม ดอกช่อเกิดภายในโครงสร้างกลวงออกที่ซอกใบ ประกอบด้วยดอกขนาดเล็กจำนวนมาก เบียดกันแน่นบนฐานรองดอก ซึ่งเจริญหุ้มดอก มีช่องเปิดด้านบน ซึ่งมีใบประดับซ้อนทับหลายชั้นปิดอยู่ทำให้ดูภายนอกคล้ายผล รูปไข่ค่อนข้างกลม อยู่บริเวณกิ่งที่มีใบติดอยู่ ดอกแยกเพศ อยู่ในช่อเดียวกัน ดอกเพศผู้มีจำนวนน้อย อยู่บริเวณรูเปิดของช่อดอก กลีบดอกมี 3-4 กลีบ เกสรเพศผู้มี 1-2 อัน ดอกเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ
- ผลมะเดื่อหอม เป็นผลรวม ผลย่อยเป็นผลสด กลม ขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 มิลลิเมตร ออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ สีเหลือง เมื่อสุกมีสีแดงอมส้ม มีขนหยาบสีทองหนาแน่น ไม่มีก้านผล ที่ฐานมีกาบแหลม 3 กาบ ขนาด 1.5-5 มิลลิเมตร หน่วยผล ที่มีดอกแบบกอล รูปลูกข่าง ปลายบุ๋ม หน่วยผลที่มีดอกตัวเมียมักจะกลม ขนาดเล็กกว่า
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, ลำต้น, ผล
สรรพคุณ มะเดื่อหอม :
- ราก รสฝาดเย็นหอม แก้พิษงู พิษฝี แก้ตับพิการ หัวใจพิการ บำรุงกำลัง ทำให้ชื่นบาน แก้พิษอักเสบ รากฝนน้ำกิน แก้ผิดสำแดง เป็นยาระบาย ขับลมในลำไส้ บำรุงหัวใจ
- ลำต้น และราก ต้มน้ำดื่มบำรุงหัวใจ
- ผล รสฝาดเย็น แก้พิษฝี