สบู่แดง

ชื่อสมุนไพร : สบู่แดง
ชื่ออื่นๆ :
สบู่แดง, ละหุ่งแดง (ภาคกลาง), สลอดแดง, สบู่เลือด, หงษ์เทศ (ปัตตานี), มะหุ่งแดง, สีลอด, ยาเกาะ, เยาป่า
ชื่อสามัญ : Bellyache Bush
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Jatropha gossypifolia L.
ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE

ลักษณะทางพฤกษ์ศาสตร์ :

  • ต้นสบู่แดง จัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นมีสีเทา ลำต้นแผ่กิ่งก้านออกไป พบได้ทั่วไป เป็นไม้ที่ชอบอากาศแห้ง กลางแจ้ง และเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายและระบายน้ำดี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ
    สบู่แดง
  • ใบสบู่แดง ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบคล้ายฝ่ามือ มีเว้าลึกประมาณ 2-3 เว้า ก้านใบ ใบอ่อน และเส้นใบมีสีแดง ใบอ่อนมีสีม่วงเข้มหรือเป็นสีน้ำตาลแดง ส่วนใบแก่จะมีสีเขียวปนแดงและมีขน
    สบู่แดง
  • ดอกสบู่แดง ดอกมีขนาดเล็ก ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด เป็นช่อดอกแบบ Cyathium กลีบดอกมีสีแดงเข้ม ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ แต่ละช่อย่อยจะมีดอกตัวเมียอยู่ 1 ดอก ที่เหลือเป็นดอกตัวผู้
    สบู่แดง
  • ผลสบู่แดง ลักษณะของผลเป็นรูปรียาว มี 3 พู ผลอ่อนมีสีเขียว ส่วนผลแก่มีสีเหลือง เมื่อแก่เต็มที่จะแตก ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล 3 เมล็ด

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, เมล็ด, น้ำมันในเมล็ด, ราก

สรรพคุณ สบู่แดง :

  • ใบ  ต้มกินแก้ปวดท้อง เป็นยาระบาย ตำพอกแก้ผื่นคัน
  • เมล็ด  เผาให้สุกกินเป็นยาระบาย ตำพอกทาแผลโรคเรื้อน
  • น้ำมันในเมล็ด   ใช้เป็นยาถ่ายอย่างแรง ช่วยขับพยาธิ ถ่ายน้ำเหลืองเสีย
  • ราก  รักษาโรคหืด

น้ำยางใสของต้นสบู่แดงมีพิษ มีฤทธิ์ทำให้ระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน อักเสบบวม หรือพองเป็นตุ่มน้ำใส หากเข้าตาอาจทำให้ตาอักเสบ หรืออาจทำให้ตาบอดชั่วคราวหรือถาวรได้ วิธีการแก้พิษเบื้องต้น หากถูกผิวให้รีบล้างด้วยน้ำสบู่ ทาด้วยครีมสเตียรอยด์ และรับประทานยาแก้แพ้ เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlopheniramine) ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ถ้าหากเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำหลาย ๆ รอบ แล้วใช้ยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์หยอดตา แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

Scroll to top