ชื่อสมุนไพร : เท้ายายม่อม
ชื่ออื่นๆ : ท้าวยายม่อม, ปิ้งขม ปิ้งหลวง (เหนือ); พญาเล็งจ้อน, เล็งจ้อนใต้ (เชียงใหม่); พญารากเดียว (ใต้) ไม้เท้าฤาษี (เหนือ ใต้); พมพี (อด); พินพี (เลย); โพพิ่ง (ราชบุรี); หญ้าลิ้นจ้อน (ประจวบคีรีขันธ์); กาซะลอง รดพระธรณี ดอกคาน (ยะลา) ท่าละม่อม, เท้ายายม่อมตัวเมีย ปู่เจ้าหายใจไม่รู้ขาด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clerodendrum indicum (L.) Kuntze
ชื่อวงศ์ : Labiatae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นเท้ายายม่อม เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1-2.5 เมตร เป็นไม้ลงรากแก้วอันเดียวลึก พุ่งตรง รากกลม ดำ โต ลำต้นตั้งตรง ไม่มีกิ่งก้านสาขา หรือแตกกิ่งบริเวณใกล้ยอด บริเวณปลายกิ่งเป็นสันสี่เหลี่ยม
- ใบเท้ายายม่อม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม หรือรอบข้อ ข้อละ 3-5 ใบ จากต้นตรงขึ้นไปจนถึงยอด ใบรูปวงรีแกมขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมใบหอกกลับ กว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาว 12-18 เซนติเมตร เส้นกลางใบงอโค้งเข้าหาลำต้น เกือบเป็นรูปครึ่งวงกลม ดัดใบให้งอตามไปด้วยเมื่อแตกกิ่งใหม่ ปลายและโคนใบแหลม
- ดอกเท้ายายม่อม เป็นช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง เป็นพุ่มกระจาย คล้ายฉัตรเป็นช่อชั้นๆ ตั้งขึ้น กลีบดอกสีขาว เชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ขนาดดอกกว้าง 1.5 เซนติเมตร ก้านดอกยาว 10-12 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงสีเขียว หรือแดง มี 5 แฉก
- ผลเท้ายายม่อม ผลสดรูปทรงกลม แป้น เมื่อสุกมีสีน้ำเงินแกมสีดำ หรือสีดำแดง มีกลีบเลี้ยงสีแดงติดอยู่ พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ดอกออกช่วงเดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน ยอดอ่อนและดอกอ่อนนำมาลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, ใบ
สรรพคุณ เท้ายายม่อม :
- ราก รสจืดขื่น แก้ไข้ แก้พิษสัตว์กัดต่อย ปรุงเป็นยาแก้พิษไข้ พิษกาฬ ลดความร้อนในร่างกาย กระทุ้งพิษไข้หวัด ไข้เหนือ ขับเสมหะลงสู่เบื้องต่ำ ถอนพิษไข้ทุกชนิด แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้หืดไอ แก้อาเจียน ดับพิษฝี แก้ไข้เหนือไข้พิษ ไข้กาฬ ตัดไข้จับ แก้ไข้เพื่อดีพิการ แก้พิษงู เป็นตัวยาในพิกัดยาเบญจโลกวิเชียร
- ใบ แก้หืด ต้น รสจืดเฝื่อน ขับเสมหะให้ลงเบื้องต่ำ ขับพิษไข้ทุกชนิด แก้ร้อนใน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
- วุฒิ วุฒิธรรมเวช. 2540. สารานุกรมสมุนไพร. โอเดียนสโตร์:กรุงเทพมหานคร.
- วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. 2539. พจนานุกรม สมุนไพรไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4 .ประชุมทองการพิมพ์: กรุงเทพมหานคร.