จามจุรี

จามจุรี

ชื่ออื่น : จามจุรี
ชื่ออื่น :
ก้ามกราม, ก้ามกุ้ง, ก้ามปู,  กิมบี๊ (กระบี่), ฉำฉา, สารสา, สำสา, ลัง (ภาคเหนือ), ตุ๊ดตู่ (ตาก), เส่คุ, เส่ดู่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อสามัญ : Cow tamarind, Rain tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Albizia saman (Jacq.) F. Muell.
ชื่อวงศ์ : FABACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นจามจุรี เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15-20 ม. แตกกิ่งต่ำ กิ่งมีขนาดใหญ่ เรือนยอดแผ่กว้างโค้งตรงกลางและลาดลงหาขอบคล้ายรูปร่ม กว้างถึงประมาณ 30 ม. เปลือกสีเทาขรุขระแตกเป็นร่องตามยาว ระหว่างร่องเปลือกมีลักษณะคล้ายไม้ก๊อก เปลือกในสีชมพูหรือน้ำตาลอ่อน กิ่งอ่อนมีขนประปราย
  • ใบจามจุรี ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาว 10-18 ซม. ก้านใบประกอบยาว 3-5 ซม. ใบประกอบแยกแขนงตรงข้ามกัน 2-5 คู่ บนแขนงมีใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน 2-10 คู่ คู่ที่อยู่ตอนบนมีขนาดใหญ่สุดและลดหลั่นลงไปจนถึงคู่ล่างที่มีขนาดเล็กสุด ตรงจุดต่อระหว่างคู่ใบย่อยและคู่แขนงใบมักมีต่อมกลมนูนสีคล้ำปรากฎชัดเจน ใบย่อยรูปไข่ รูปรี หรือคล้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน รูปใบมีลักษณะสมมาตร กว้าง 0.6-4 ซม. ยาว 1.5-6 ซม. ปลายมน มักเว้าตื้นๆ หรือมีติ่งแหลมสั้นๆ โคนเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนนุ่มทั่วไป ไม่มีก้านใบย่อย
  • ดอกจามจุรี ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง 1-2 ช่อ กว้าง 5-6 ซม. ช่อตั้งขึ้น ก้านช่อดอกยาว 5-9 ซม. ดอกมีจำนวนมาก ดอกของวงนอกช่อดอกมีขนาดเล็กกว่าดอกของวงใน ดอกกลางช่อมีขนาดใหญ่ที่สุด ดอกวงนอกมีก้านสั้นๆ ดอกวงในไม่มีก้าน กลีบเลี้ยงติดกันคล้ายรูปแตร ยาว 5-8 มม. มีขนหนาแน่น ปลายแยกเป็น 7-8 แฉก กลีบดอกสีขาวอมเขียว ติดกันคล้ายรูปแตร ยาว 1-1.2 ซม. ส่วนบนมีขนหนาแน่น ส่วนล่างเกือบเกลี้ยง ปลายหลอดกลีบดอกแยกเป็น 5 แฉก เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก สีชมพู ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 5 ซม. โคนติดกันเป็นหลอดสั้น รังไข่แบนยาว
  • ผลจามจุรี เป็นฝักรูปขอบขนาน ตรงหรือโค้งเล็กน้อย กว้าง 1.5-2.4 ซม. ยาว 15-20 ซม. หนา 0.6-1.1 ซม. ผิวเรียบ ฝักแก่สีน้ำตาลดำ คอดเล็กน้อยเป็นตอนๆ ระหว่างเมล็ด เมล็ดเรียงเป็นแถวตามความยาวของฝัก สีน้ำตาล รูปแบนรี กว้างประมาณ 5 มม. ยาวประมาณ 9 มม. หนาประมาณ 4 มม.

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, เมล็ด, เปลือกต้น

สรรพคุณ จามจุรี :

  • ใบจามจุรี รสเย็นเมา ทำให้เย็น ดับพิษ แก้ปวดแสบปวดร้อน
  • เมล็ดจามจุรี รสฝาดเมา แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน เรื้อน แก้เยื่อตาอักเสบ
  • เปลือกต้นจามจุรี รสฝาด สมานแผลในปากในคอ แก้โรคเหงือกบวม แก้ปวดฟัน แก้ริดสีดวงทวารหนัก แก้ท้องร่วง แก้โลหิตตกใน

[su_quote cite=”The Description”]แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน โดยใช้เมล็ดจามจุรี จำนวน 10-20 กรัม นำมาโขลกให้ละเอียด ผสมเหล้าโรงเล็กน้อย ใช้ทาและพอกบริเวณที่เป็นวันละ 2 เวลา[/su_quote]

Scroll to top