รางจืดดอกแดง

ชื่อสมุนไพร : รางจืดดอกแดง
ชื่ออื่นๆ :
 น้ำปู้, หนามแน่แดง, เครือนกน้อย(เชียงใหม่), เหนอะตอนเมื่อย(เย้า-เชียงใหม่), จอละดิ๊กเดอพอกวอ(กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), จอลอดิ๊กเดอพอกวอ, ปังกะล่ะกวอ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), รางจืด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thunbergia coccinea Wall.
ชื่อวงศ์ : THUNBERGIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • รางจืดดอกแดง เป็นไม้พุ่มเลื้อยพัน มีความยาวได้ประมาณ 10-20 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามากจนปกคลุมต้นไม้อื่น ลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็ง ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอมแดงถึงสีน้ำตาลเข้ม
    รางจืดดอกแดง
  • ใบรางจืดดอกแดง เป็นใบเดี่ยว ออกจากข้อของลำต้นหรือกิ่ง โดยจะออกเป็นคู่ตรงข้ามกันแบบเวียนรอบ ทิ้งระยะค่อนข้างห่างระหว่างข้อ ก้านใบมีลักษณะกลม ยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยงและไม่มีขน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปไข่แกมใบหอก ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบโค้งมน ป้าน หรือเว้าลึกเล็กน้อย ส่วนขอบใบหยักคล้ายซี่เลื่อยหรือเป็นลูกคลื่นแบบห่าง ๆ ไม่สม่ำเสมอกัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างบาง หลังใบเกลี้ยงเป็นสีเขียว ส่วนท้องใบมีสีอ่อนกว่าและมีนวลสีขาวขึ้นปกคลุม เส้นใบจะออกจากโคนใบ มีประมาณ 5-7 เส้น
  • ดอกรางจืดดอกแดง ออกดอกเป็นช่อห้อยลง โดยจะออกตามซอกใบใกล้กับปลายกิ่ง ช่อดอกยาวได้ถึง 2 เมตร ดอกย่อยมีหลายดอก เป็นดอกสมบูรณ์  ออกเรียงตัวแบบเวียนรอบแกนช่อ ทิ้งระยะค่อนข้างห่าง มีใบประดับลักษณะเป็นรูปไข่ปลาแหลมหรือมนเล็กน้อย ดอกเป็นสีส้ม สีส้มอมแดง ถึงสีแดงอมม่วงหุ้มดอกเมื่อดอกตูม เมื่อดอกเริ่มบานกลีบดอกสีเหลืองอ่อนถึงเหลืองเข้มจะโผล่ออกมาทางด้านล่างของใบประดับ กลีบเลี้ยงดอกมีขนาดเล็กมาก มีลักษณะเป็นแถบเล็ก ๆ อยู่บริเวณโคนกลีบดอก กลีบดอกมีช่วงโคนเชื่อมติดกันเป็นท่อยาวประมาณ 2/3 ส่วนของความยาวกลีบดอก ช่วงปลายแยกเป็นกลีบ 5 กลีบ กลีบมีขนาดไม่เท่ากัน โดยกลีบบนจะมีขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่น ๆ และมีลักษณะตั้งขึ้น ส่วนกลีบที่เหลือมักพับลง ผิวด้านในของกลีบจะมีสีอ่อนกว่าด้านนอก ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน โดยจะอยู่ลึกลงไปในท่อกลีบดอก ก้านเกสรสั้น มีรังไข่ 1 อัน
  • ผลรางจืดดอกแดง ผลมีลักษณะเป็นฝักประเภทแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ยาวได้ประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ปลายฝักเป็นจะงอยแข็งยาว ภายในฝักมีเมล็ดหลายเมล็ด

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เถา, ราก, ใบ

สรรพคุณ รางจืดดอกแดง :

  • เถา , ราก , ใบ  รสจืด แก้พิษยาเบื่อ ยาเมา มีฤทธิ์แรงกว่ารางจืดดอกม่วง สามารถใช้กับผู้ที่ได้รับสารฆ่าหญ้าชนิดดูดซึมได้
Scroll to top