ชื่ออื่น ๆ : กราย, หางกราย, หนามกราย (ไทยภาคกลาง), แนอาม, ตานแดง, หนองมึงโจ้, แสมดำ, ขี้อ้าย (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terminalia nigrovenulosa Pierre ex Laness
ชื่อวงศ์ : COMBRETACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นกราย ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงประมาณ 13-22 เมตร ลำต้นตรง โคนต้นอ่อนมักมีกิ่งรยางค์ปรากฏ เมื่อสับจะมียางสีแดงส้มชัดเจน
- ใบกราย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันหรือออกเกือบตรงกันข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปมนแกมรูปไข่ ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบเข้าหากันเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบ มีต่อมหนึ่งคู่ที่บริเวณขอบใบใกล้ ๆ กับโคนใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ใบอ่อนปกคลุมไปด้วยขนสีน้ำตาลหนาอ่อนหนาแน่น และจะร่วงไปเมื่อใบมีอายุมากขึ้น เส้นแขนงใบมีข้างละ 8-10 เส้น ใบแก่ก่อนร่วงเป็นสีเหลือง ก้านใบมีขนาดเล็กเรียวและยาวได้ประมาณ 0.5-3 เซนติเมตร
- ดอกกราย เป็นช่อมีกิ่งแขนงมาก ขนาด 2.5-5 ซม. ช่อดอกอ่อนคลุมด้วยขนสีน้ำตาลหนาแน่น ดอกสีขาวอมเหลือง มีขนาดเล็กมาก ลักษณะเป็นถ้วยกลีบรองกลีบดอกมีขนสีน้ำตาลปกคลุม ทั้งด้านนอกและด้านใน
- ผลกราย เป็นผลแก่ไม่แตกรูปบกระสวย ขอบขนาน มีครีบ 3 ครีบ แต่ละครีบทำมุมเกือบเท่ากัน สีน้ำตาลอ่อน ผิวเกลี้ยง ขนาดของผลรวมทั้งครีบยาว 1.5-2.5 ซม. กว้าง 1-1.5 ซม.
ส่วนที่ใช้เป็นยา : เปลือก, ผล
สรรพคุณ กราย :
- เปลือก รสฝาด นำมาใช้เป็นยากล่อมเสมหะและอาจม คุมธาตุและแก้อุจจาระเป็นฟอง เป็นยาบำรุงหัวใจ กินกับหมาก แก้ปากเปื่อย แก้ท้องร่วง รักษาโรคบิด แก้บิดปวดเบ่ง ขับปัสสาวะ
- ผล รสฝาด ใช้เป็นยาแก้เสมหะเป็นพิษ อาการท้องร่วงอย่างแรง แก้อุจจาระเป็นมูกเลือด หรือเป็นบิดให้ทานลูกกรายก็จะหาย