ชื่อสมุนไพร : กะเม็งตัวเมีย
ชื่ออื่น ๆ : กะเม็งตัวเมีย, กะเม็ง(ภาคกลาง), ฮ่อมเกี่ยว(ภาคเหนือ), บั้งก็เช้า(ประเทศจีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eclipta prostrata (L.) L.
ชื่อวงศ์ : COMPOSITAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นกะเม็งตัวเมีย เป็นพรรณไม้ล้มลุก ที่มีลำต้นตั้งตรง มีความสูงประมาณ 4-32 นิ้ว ลักษณะลำต้นมีขนหรือบางต้นก็ค่อนข้างเกลี้ยง ลำต้นมีกิ่งก้านแตก ที่โคนต้น
- ใบกะเม็งตัวเมีย มีลักษณะเป็นรูปรี หรือรูปหอก ปลายใบแหลมเรียว โคนใบสอบแคบ ริมขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ผิวเนื้อใบเกลี้ยง ขนาดของใบกว้างประมาณ 0.5-2.5 ซม. ยาวประมาณ 3-10 ซม. ก้านใบไม่มี
- ดอกกะเม็งตัวเมีย ออกเป็นกระจุก ลักษณะของดอกมีกลีบดอกสีขาว ดอกวงในโคนดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปท่อยาวประมาณ 2 มม. ส่วนปลายจะหยักเป็น 4 แฉก ดอกในวงนอกเป็นรูปรางน้ำ ยาวประมาณ 2.5 มม. ปลายดอกหยักเป็น 2 แฉก ก้านดอกเรียวยาว ยาวประมาณ 2-4.5 ซม.
- ผลกะเม็งตัวเมีย มีลักษณะเป็นรูปลูกข่าง มีสีดำ ปลายมีระยางค์เป็นเกล็ดยาวประมาณ 2.5 มม. ขนาดของผลกว้างประมาณ 1.5 มม. ยาวประมาณ 3-3.5 มม.
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ลำต้น ใบ ดอก ราก
สรรพคุณ กะเม็งตัวเมีย :
- ลำต้น ใช้เป็นยาฝาดสมาน บำรุงอวัยวะเพศ แก้ตกขาว โรคมะเร็ง คอตีบ ปัสสาวะเป็นโลหิต ไอเป็นโลหิต อุจจาระเป็นโลหิต อาเจียนเป็นโลหิต โรคลำไส้อักเสบ บำรุงไต
วิธีใช้ ด้วยการนำมาต้มเอาน้ำดื่ม หรือนำลำต้นมาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำหอม ใช้สูดดม แก้โรคดีซ่านและแก้ไข้หวัด และเมื่อนำมาผสมกับพริกไทยและน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นกลอนเล็ก ๆ ใช้เป็นยาบำรุงร่างกายให้แข็งแรง แก้ปวดเมื่อย - ใบ นำใบสดมาตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาน้ำมาผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใช้ใส่ผมดก ดำเป็นมัน และยังแก้ผมหงอกก่อนวัย เมื่อนำมาผสมกับน้ำผึ้งกิน แก้โรคหวัด น้ำมูกไหลใช้กับทารก ตำเอากากมาพอกแผล แผลห้ามโลหิต แก้โรคหนังกลากเกลื้อน จากเชื้อรา
- ดอกและใบ ใช้ต้มและนำมาทา บริเวณเหงือก หรือฟันที่ปวด
- ราก ใช้ต้มเอาน้ำกิน แก้โรคเลือดจาง ท้องร่วง โรคบิด หอบหืด หลอดลมอักเสบ ตับอักเสบ อาการแน่นหน้าอก รักษาโรคเกี่ยวกับตา