โกฐเขมา

ชื่ออื่น : โกฐเขมา, โกฐหอม, ซังตุ๊ก, ชางจู๋
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Atractylodes lancea (Thunb.) DC.
ชื่อวงศ์ : Compositae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นโกฐเขมา จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีความสูงได้ประมาณ 50-100 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะกลมเป็นร่อง
  • ใบโกฐเขมา เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนแผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ลักษณะของใบมีหลายรูปแบบหรือเป็นรูปหอก ขอบใบมีขนครุยหรือหยักเป็นฟันเลื่อย ใบบริเวณกลางต้นมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ รูปไข่กลับแกมรี รูปรีแคบ หรือรูปใบหอกกลับ ส่วนใบบริเวณใกล้โคนต้นจะมีลักษณะเป็นรูปไข่ ขอบใบเรียบหรือหยักแบบขนนก 3-5 แฉก ก้านใบสั้น หน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนหลังใบมีคราบสีขาวเกาะอยู่
  • ดอกโกฐเขมา ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นตามปลายกิ่ง ออกเดี่ยวหรือหลายช่อ วงใบประดับซ้อนกันแน่นเป็นรูประฆัง ด้านบนของฐานดอกแบน มีเกล็ดหนาแน่น ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาว
  • ผลโกฐเขมา ผลเป็นแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เหง้า

สรรพคุณ โกฐเขมา :

  • เหง้า เป็นยาบำรุงธาตุ ขับลม เป็นยาบำรุง ใช้แก้โรคเข้าข้อ เป็นยาเจริญอาหาร ยาขับปัสสาวะ  แก้โรคในปากในคอเป็นแผลเน่าเปื่อย แก้เสียดแทงสองราวข้าง แก้จุกแน่น แก้หอบหืด ระงับอาการหอบ แก้หวัดคัดจมูก แก้ไข้ แก้ลมตะกัง แก้เหงื่อออกมาก แก้ไข้รากสาดเรื้อรัง แก้ขาปวดบวม ขาไม่มีแรง ปวดข้อ แก้ท้องเสีย  แพทย์แผนจีนนิยมใช้โกฐเขมามาก เข้าในยาจีนหลายขนาน ตำรายาจีนว่าใช้แก้อาการท้องร่วงท้องเสีย แก้อาการบวมโดยเฉพาะอาการบวมที่ขา แก้ปวดข้อ เนื่องจากโรคข้ออักเสบ แก้หวัด และแก้โรคตาบอดตอนกลางคืน
Scroll to top