ชื่อสมุนไพร : โคลงเคลง
ชื่ออื่นๆ : กะดูดุ(มลายู-ปัตตานี), กาดูโด๊ะ(มลายู-สตูล, ปัตตานี), โคลงเคลงขี้นก, โคลงเคลงขี้หมา(ตราด), ซิซะโพ๊ะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ตะลาเด๊าะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เบร์, มะเหร, มังเคร่, มังเร้, สาเร, สำเร(ภาคใต้), มายะ(ชอง-ตราด), อ้า, อ้าหลวง(ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melastoma malabathricum L. subsp. malabathricum
วงศ์ : Melastomataceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นโคลงเคลง เป็นไม้พุ่ม มีความสูงประมาณ 1.5-3 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านเป็นสีน้ำตาลแดง กิ่งเป็นเหลี่ยม ทุกส่วนของลำต้นมีขนละเอียดสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม
- ใบโคลงเคลง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ และสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบและโคนใบแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 1-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-14 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างแข็ง ผิวใบมีเล็ดเล็กแหลม มีเส้นใบออกจากโคนใบไปจรดกันที่ปลายใบประมาณ 3-5 เส้น ส่วนเส้นใบย่อยเรียงแบบขั้นบันได และไม่มีหูใบ
- ดอกโคลงเคลง ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด ช่อละประมาณ 3-5 ดอก ดอกเมื่อบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีม่วงอมสีชมพู โดยทั่วไปดอกจะมีกลีบดอก 5 กลีบ หรือมีกลีบ 4 กลีบ หรือ 6 กลีบก็มี ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ มีถ้วยรองดอกปกคลุมด้วยเกล็ดแบนเรียบ ดอกเป็นช่อแบบสมบูรณ์เพศ ดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลือง 10 อัน เรียงเป็นวง 2 วง และมีรยางค์สีม่วงโค้งงอ ส่วนรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ
- ผลโคลงเคลง ผลมีลักษณะคล้ายลูกข่าง มีขนาดกว้างประมาณ 0.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร และมีขนปกคลุม เนื้อในผลเป็นสีแดงอมสีม่วง ผลเมื่อแก่เปลือกผลจะแห้งแล้วแตกออกตามขวาง ผลมีความยาวประมาณ 0.5-1.2 เซนติเมตร ภายในเมล็ดมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก หรือผลมีเนื้อนุ่มอยู่หลายเมล็ด
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก, ดอก
สรรพคุณ โคลงเคลง :
- รากโคลงเคลง เป็นยาดับพิษแก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้ทุกชนิด บำรุงธาตุ เจริญอาหาร บำรุงร่างกาย ตับ ไตเเละดี
- ดอกโคลงเคลง เป็นยาระงับประสาทเเละห้ามเลือดในคนที่เป็นริดสีดวงทวาร
[su_spoiler title=”แหล่งข้อมูลอ้างอิง :” style=”fancy” icon=”folder-2″]1.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ธวัชชัย มังคละคุปต์, วัชรีพร คงวิลาด, สุจิรัตน์ มาทองแดง, รัตติกาล วิเคียน. 2549. สมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. บริษัทสามเจริญพาณิชย์(กรุงเทพฯ)จำกัด:กรุงเทพมหานคร.
2.โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนฯ ท่าเตียน พระนคร. 2521. ประมวลสรรพคุณยาไทย (ภาคหนึ่ง) ว่าด้วย พฤกษชาติ วัตถุธาตุ และสัตว์วัตถุนานาชนิด. บพิธการพิมพ์:กรุงเทพมหานคร.[/su_spoiler]