ชื่อสมุนไพร : ไก่ไห้
ชื่ออื่นๆ : กระจิก (ภาคกลาง), กระโปรงแจง, ไก่ไห้, ทะลุ่มอิด (ภาคเหนือ), ก่อทิง (ชัยภูมิ), กะอิด (ภาคตะวันตกเฉียงใต้), โกโรโกโส, หนามนมวัว, หนามเกาะไก่, ก่อทิง (ภาคตะวันออก), งวงช้าง, งัวเลีย, วัวเลีย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ตะครอง (ภาคใต้), ตะลุ่มอิด (นครสวรรค์)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Capparis flavicans Kurz.
ชื่อวงศ์ : CAPPARACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นไก่ไห้ เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 2-10 ม. กิ่งก้านมีขนรูปดาวสีน้ำตาลอมเหลือง มีหนามตรงหรือโค้งเล็กน้อย ยาว 1-3 มม.
- ใบไก่ไห้ ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่กลับหรือรูปรี กว้าง 1-2 ซม. ยาว 1.5-3 ซม. ปลายมีติ่งเล็กๆ หรือบางครั้งเว้าตื้น โคนมน แผ่นใบค่อนข้างหนา มีขนสีน้ำตาลอมเหลืองหนาแน่นและจะร่วงไปเหลือเพียงเล็กน้อยเมื่อใบแก่ เส้นแขนงใบข้างละ 3-5 เส้น 2 คู่แรกมักออกใกล้โคนใบ ก้านใบยาว 3-4 มม.
- ดอกไก่ไห้ สีเหลือง ออกเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ ก้านดอกยาว 1-3 ซม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ กว้าง 4-5 มม. ยาว 5-8 มม. กลีบดอก 4 กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง 4-6 มม. ยาว 8-9 มม. ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอกมีขนสีน้ำตาลอมเหลืองหนาแน่น เกสรเพศผู้ 6-12 อัน สีค่อนข้างเหลือง ก้านชูเกสรเพศเมียโค้ง ยาว 1.5-2.5 ซม. รังไข่รูปรีหรือรูปไข่ ทั้งก้านชูเกสรเพศเมียและรังไข่มีขนหนาแน่น
- ผลไก่ไห้ รูปรีหรือค่อนข้างกลม กว้าง 2.5-3.5 ซม. ยาว 2.5-4 ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม ผิวตะปุ่มตะป่ำมีขนสีเทาๆ เมล็ดกว้าง 3-7 มม. ยาว 6-8 มม. มีเนื้อสีเหลืองหุ้ม
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, เนื้อไม้
สรรพคุณ ไก่ไห้ :
- ใบ รสจืด กินเป็นยาขับน้ำนม
- เนื้อไม้ รสจืด ต้มหรือดองสุราแก้เส้นเอ็นแข็งตึง ป่นเป็นผงทำเป็นควันใช้สูดแก้อาการวิงเวียนศีรษะ