กระชาย

กระชาย

ชื่อสมุนไพร :  กระชาย
ชื่ออื่น ๆ
:  กระชายดำ, กะแอน, ขิงทราย(มหาสารคาม), จี๊ปู, ซีฟู, เปาซอเร๊าะ, เป๊าสี่ระแอน(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ละแอน(ภาคเหนือ), ว่านพระอาทิตย์(กรุงเทพฯ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Boesenbergia rotunda (L.) Mansf.
ชื่อวงศ์ : ZINGLBERACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกระชาย เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าสั้น แตกหน่อได้ รากอวบ รูปทรงกระบอกหรือรูปไข่ค่อนข้างยาว ปลายเรียว กว้าง 1-2 ซม. ยาว 4-10 ซม. ออกเป็นกระจุก ผิวสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีเหลือง มีกลิ่นเฉพาะตัว
    กระชายกระชาย
  • ใบกระชาย มี 2-7 ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี กว้าง 5-12 ซม. ยาว 12-50 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือแหลม ขอบเรียบ เส้นกลางใบ ก้านใบ และกาบใบด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างนูนเป็นสัน ก้านใบเรียบ ยาว 7-25 ซม. กาบใบสีชมพู ยาว 7-25 ซม. ระหว่างก้านใบและกาบใบมีลิ้นใบ
  • ดอกกระชาย เป็นช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอดระหว่างกาบใบคู่ในสุด ยาวประมาณ 5 ซม. แต่ละดอกกระชายมีใบประดับ 2 ใบ สีขาวหรือขาวอมชมพูอ่อน รูปใบหอก กว้างประมาณ 8 มม. ยาว 3.5-4.5 ซม. กลีบเลี้ยงสีขาวหรือขาวอมชมพูอ่อน โคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 1.7 ซม. ปลายแยกเป็น 3 แฉก กลีบดอกสีขาวหรือขาวอมชมพูอ่อน โคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 6 ซม. ปลายแยกเป็น 3 กลีบ รูปใบหอก ขนาดไม่เท่ากัน กลีบใหญ่ 1 กลีบ กว้างประมาณ 7 มม. ยาวประมาณ 1.8 ซม. อีก 2 กลีบ ขนาดเท่ากัน กว้างประมาณ 5 มม. ยาวประมาณ 1.5 ซม. เกสรเพศผู้ 6 อัน แต่ 5 อัน เปลี่ยนไปมีลักษณะเหมือนกลีบดอก โดย 2 กลีบบนสีชมพู รูปไข่กลับ ขนาดเท่ากัน กว้างประมาณ 1.2 ซม. ยาวประมาณ 1.7 ซม. อีก 3 กลีบล่างสีชมพูติดกันเป็นกระพุ้ง กว้างประมาณ 2 ซม. ยาวประมาณ 2.7 ซม. ปลายแผ่กว้างประมาณ 2.5 ซม. มีสีชมพูหรือม่วงแดงเป็นเส้นๆ อยู่เกือบทั้งกลีบโดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงกระเปาะและปลายกลีบ มีเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 1 อัน ก้านชูอับเรณูหุ้มก้านเกสรเพศเมีย ผลแก่แตกเป็น 3 เสี่ยง เมล็ดค่อนข้างใหญ่

ส่วนที่ใช้เป็นยา : รากเหง้า หรือหัวที่อยู่ในดิน ใบ

สรรพคุณ กระชาย :

  • เหง้า (ลำต้นใต้ดิน) มีรสเผ็ดร้นขม แก้โรคอันเกิดในปาก แก้มุตกิด แก้ลมอันบังเกิดแก่กองหทัยวาต แก้โรคในปากเปื่อย ปากแตกเป็นแผล ปากแห้ง ขับระดูขาว แก้ใจสั่นหวิว บำรุงหัวใจ แก้ไอ แก้ปวดมวลในท้อง ท้องร่วง รักษาอาการแน่น จุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับปัสสาวะรักษาโรคบิด แก้บิดมูกเลือด ปวดเบ่ง แก้ลำไส้ใหญ่อักเสบ บำรุงกำลัง ใช้ภายนอกรักษาโรคกลากเกลื้อน
  • ราก (นมกระชาย) มีรสเผ็ดร้อนขม มีสรรพคุณคล้ายโสม แก้กามตายด้าน บำรุงความรู้สึกทางเพศ ทำให้กระชุ่มกระชวย โดยใช้นมกระชายตำและหัวดองสุรา หรือใช้เป็นยาอายุวัฒนะโดยทำเป็นยาลูกกลอน
  • ใบ มีรสร้อนเฝื่อน แก้โรคในปาก บำรุงธาตุ ถอนพิษต่างๆ

เอกสารอ้างอิง

  1. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. (2552). เครื่องยาไทย 1. หน้า 35.
  2. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี และธวัชชัย มังคละคุปต์. (2547). สมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 20.
  3. อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทยสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 57-60.
  4. ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุ กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  5. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้.  ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544.  ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม).  พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด.  2544
Scroll to top