ขี้กาแดง

ขี้กาแดง

ชื่ออื่น ๆ : มะกาดิน(ศรีราชา), ขี้กาแดง, ขี้กาลาย, ขี้กาน้อย, กายิงอ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Trichosanthes bracteata (Lam.) Voight (T.palmata Roxb.)
ชื่อวงศ์ : CUCURBITACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ขี้กาแดง เป็นไม้เถาเลื้อย ลำเถาอวบน้ำและสากมีขนสีขาวสั้นตั้งตรงเกาะติดหนาแน่น
  • ใบขี้กาแดง ใบเป็นใบเดี่ยว การเกาะติดของใบบนกิ่งแบบเวียนและมีหนวดที่โคนก้านใบ ใบรูปไข่เกือบกลม 5 เหลี่ยม ขนาดประมาณ 10 x 15 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนเว้าเป็นติ่งหู ขอบหยักบิดเป็นคลื่น แผ่นใบผิวหยาบสากเป็นลอนตามรอยกดเป็นร่องของเส้นใบ หลังใบมีขนสั้นสีขาวจำนวนมาก ก้านใบสีเขียวอ่อนแกมเหลืองยาว มีขนชนิดเดียวกัน
  • ดอกขี้กาแดง ดอกเป็นดอกเดี่ยวแยกเพศกัน เกิดที่ซอกใบ ดอกสีขาวกลีบดอกส่วนโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดส่วนปลายแยกเป็นกลีบ 4 – 5 กลีบ ดอกเพศเมียที่ฐานดอกมีรังไข่ทรงกลม ดอกเพศผู้ไม่มีรังไข่
  • ผลขี้กาแดงผลทรงกลมโตเท่าผลส้มเขียวหวาน ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียว มีริ้วสีขาวจาง ๆ ผลสุกนั้นจะมีสีแดงห้อนเป็นระย้า ผลสุกใช้ตากแห้งจะแข็งและหนา ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดทรงกลมรีแบนมีเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นเมือกใสสีเขียวเข้มเกือบดำ เยื่อหุ้มเมล็ดจะมีสีเขียวเข้ม

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ผล, ราก

สรรพคุณ ขี้กาแดง :

  • ใบ รสขม ตำพอกฝี ทาแก้โรคผิวหนังอักเสบ
  • หัว รสขม บำรุงหัวใจ แก้ม้ามย้อย ตับโต หรืออวัยวะในช่องท้องบวมโต
  • ราก รสขม บำรุงน้ำดี แก้ไข้ ดับพิษไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้จุกเสียด บดทาฝีฝักบัว แก้ตับโต ม้ามย้อย อวัยวะในช่องท้องบวมโต
  • ผล รสขม บำรุงน้ำดี แก้พิษเสมหะและโลหิต ถ่ายพิษเสมหะให้ตก แก้พิษตานซาง แก้ตานขโมย ขับพยาธิ เป็นยาถ่ายอย่างแรง ใช้ควันรม แก้หืด
  • ทั้งเถา รสขม ต้มอาบ แก้เม็ดผดผื่นคัน แก้ไข้หัว ไข้พิษ ไข้กาฬ ต้มดื่ม บำรุงน้ำดี ขับเสมหะ ดับพิษ แก้ไอเป็นเลือด
Scroll to top