บุนนาค

ชื่ออื่น ๆ : บุนนาค, สารภีดอย(เชียงใหม่), นาคบุตร(ใต้), ประนาคอ(ปัตตานี-มลายู), ก้ำก่อ(ฉาน-แม่ฮ่องสอน), ก๊าก่อ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อสามัญ : Iron Wood, Indian Rose Chestnut
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mesua ferrea Linn.
ชื่อวงศ์ : GUTTIFERAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • บุนนาค ไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นเปลา สูงได้ถึง 30 เมตร เรือนยอดทึบ และแคบ ทรงพุ่มใหญ่เป็นรูปเจดีย์ต่ำๆ มีพูพอนเล็กน้อยตามโคนต้น กิ่งก้านเรียวเล็กห้อยลง เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้ม มีรอยแตกตื้นๆ หลุดร่วงง่าย เปลือกชั้นในมีน้ำยางสีเหลืองอ่อนเล็กน้อย เนื้อไม้สีแดงคล้ำ เป็นมันเลื่อม
  • ใบบุนนาค ใบอ่อนสีชมพูแดง ห้อยลงเป็นพู่ จะออกพร้อมกันทั้งต้นในช่วงไม่กี่วันในแต่ละปี ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม มีขนาดกว้าง 1.2-4 เซนติเมตร ยาว 5-13 เซนติเมตร รูปร่างมนรีแคบ หรือรูปหอกสอบเข้าหากันทั้ง 2 ด้าน ใบแก่ด้านบนเขียวเข้ม ด้านล่างมีนวลสีเทา เส้นใบข้างมีมากมาย แต่เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว 0.8-1.2 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ เนื้อใบหนา ขอบใบเรียบ
  • ดอกบุนนาค เป็นดอกเดี่ยว หรือเป็นคู่ที่ซอกใบ หรือปลายกิ่ง เมื่อบานเต็มที่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 5-10 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาว มี 5 กลีบ ซ้อนกัน รูปไข่กลับกว้าง ปลายบานและเว้า โคนสอบ เมื่อบานเต็มที่กลีบจะแผ่กว้างออก มีกลิ่นหอมเย็น ส่งกลิ่นหอมไปได้ไกล ดอกสมบูรณ์เพศ ดอกห้อยลง ก้านดอกมีความยาวน้อยกว่า 1 เซนติเมตร เกสรตัวผู้มากกว่า 50 อัน สีเหลืองส้ม เป็นฝอย อับเรณูสีส้ม ก้านเกสรตัวเมียสีขาวยาว รังไข่มี 2 ช่อง กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปช้อน งอเป็นกระพุ้ง แยกเป็น 2 วง ลักษณะกลม กลีบเลี้ยงแข็งและหนา และอยู่คงทนจนกระทั่งเป็นผลก็ยังคงติดอยู่ที่ผล
  • ผลบุนนาค ผลสด รูปไข่ แข็งมาก ปลายโค้งแหลม ปลายไม่แตก ที่ผิวผลมีรอยด่างสีน้ำตาล ผลรูปไข่ แข็ง มีขนาดกว้าง 2.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 4 เซนติเมตร สีส้มแก่ หรือสีม่วงน้ำตาล มีเปลือกเป็นเส้นใยแข็งห้อหุ้ม และมีหยดของยางเหนียว ที่ฐานมีกลีบเลี้ยงหนารองรับ 4 กลีบ ติดอยู่ และขยายโตขึ้นเป็นกาบหุ้มผล
  • เมล็ดบุนนาค ลักษณะแบน แข็งมี 1-4 เมล็ด สีน้ำตาลเข้ม
  • พบตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ยอดอ่อนใช้เป็นผักจิ้มได้ มีรสเปรี้ยวอมฝาด

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ ดอก เมล็ด ผล และราก

สรรพคุณ บุนนาค :

  • ดอกบุนนาค มีกลิ่นหอมเย็น รสขมเล็กน้อย เป็นยาฝาดสมาน บำรุงธาตุ และขับลม แก้ลมกองละเอียด วิงเวียน หน้ามืดตาลาย ใจสั่น ชูกำลัง บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจให้แช่มชื่น แก้ร้อนในกระสับกระส่าย รักษาอาการร้อนอ่อนเพลีย แก้กลิ่นสาบในร่างกาย
  • เกสรบุนนาค รสหอมเย็น เข้ายาหอม มีฤทธิ์ฝาดสมาน บำรุงธาตุ ขับลม บำรุงครรภรักษา ทำให้หัวใจชุ่มชื่น ชื่นใจ แก้ไข้
  • ผลบุนนาค ขับเหงื่อ ฝาดสมาน กินเป็นยากระตุ้นการทำงานของร่างกาย แก้น้ำเหลืองเสีย และแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
  • แก่นบุนนาค รสเฝื่อน แก้เลือดออกตามไรฟัน ราก รสเฝื่อน ขับลมในลำไส้
  • เปลือกต้นบุนนาค รสฝาดร้อนเล็กน้อย ฟอกน้ำเหลือง กระจายหนอง เปลือกให้ยางมาก เป็นยาฝาดสมาน มีกลิ่นหอมเล็กน้อย ต้มรวมกับขิงกินเป็นยาขับเหงื่อ
  • กระพี้บุนนาค รสเฝื่อนเล็กน้อย แก้เสมหะในคอ
  • เนื้อไม้บุนนาค แก้ลักปิดลักเปิด
  • เมล็ดบุนนาค น้ำมันจากเมล็ดมีฤทธิ์ปฏิชีวนะคือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ใช้เมล็ดตำใส่บาดแผล น้ำมันจากเมล็ดรักษาโรคปวดตามข้อ และใช้ทารักษาโรคผิวหนัง ใบ รสฝาด รักษาบาดแผลสด พอกบาดแผลสด แก้พิษงู ตำเป็นยาพอกโดยรวมกับน้ำนมและน้ำมันมะพร้าวใช้สุมหัวแก้ไข้หวัดอย่างแรง รักษาเสมหะในคอ
  • เมล็ดบุนนาค ให้น้ำมันเป็นยาทาถูนวดแก้ปวดข้อ ทาแก้บาดแผลเล็กๆน้อยๆแก้ผื่น คัน และแก้หิด กรดที่พบในน้ำมันมีพิษต่อหัวใจ
  • รากบุนนาค ขับลมในลำไส้
Scroll to top