พิลังกาสา

ชื่อสมุนไพร : พิลังกาสา
ชื่ออื่นๆ
 : ลังพิสา(ตราด), ทุลังกาสา, รวมใหญ่(ชุมพร), ตาปลา, ราม, จิงจำ, จ้ำก้อง, มาตาอาแย, ปือนา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ardisia elliptica Thunb.
ชื่อวงศ์ : Myrsinaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นพิลังกาสา เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้น ขนาดเล็ก สูง 1-4 เมตร แต่อาจสูงได้ถึง 10 เมตร ลำต้นตั้งตรง กิ่งก้านกลม หรือเป็นเหลี่ยม สีน้ำตาลอมเทา กิ่งอ่อนสีน้ำตาลแดง แตกกิ่งก้านสาขารอบๆต้นมาก
    พิลังกาสา
  • ใบพิลังกาสา เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน ออกหนาแน่นที่ปลายกิ่ง รูปรีถึงรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง 2.5-5 เซนติเมตร ยาว 6-12 เซนติเมตร ปลายแหลมถึงมน โคนใบรูปลิ่ม ผิวใบและขอบใบเรียบ แผ่นใบมีต่อม เห็นเป็นจุดๆ กระจายอยู่ทั่วไป ใบหนามัน ก้านใบสั้น สีแดง เส้นใบมองเห็นไม่ค่อยชัดเจน
  • ดอกพิลังกาสา ออกเป็นช่อจากซอกใบ และปลายกิ่ง ช่อละ 4-8 ดอก กลีบดอกสีขาวแกมชมพู ก้านช่อดอกยาว 1.5-2.5 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 8-15 มิลลิเมตร ติดกันที่โคนเป็นหลอดสั้นๆ ปลายแยกเป็น 5 แฉก แต่ละแฉกรูปใบหอก ปลายกลีบดอกแหลม กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก
  • ผลพิลังกาสา รูปทรงกลมแป้น ผิวเรียบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 6 มิลลิเมตร ผลอ่อนสีแดง เมื่อสุกมีสีม่วงเข้ม เมล็ดเดี่ยว กลม พบตามป่าดงดิบเขาทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ผล, ใบ, ดอก, ราก, ต้น

สรรพคุณ พิลังกาสา :

  • ผล มีรสร้อน ฝาด  สุขุม แก้ไข้ แก้ท้องเสีย แก้ลมพิษ แก้ธาตุพิการ แก้ซาง
  • ใบ มีรสเฝื่อนร้อน แก้ตับพิการ แก้ปอดพิการ
  • ดอก มีรสเฝื่อนขมเมา ฆ่าเชื้อโรค
  • ราก มีรสเฝื่อนเมา เปรี้ยวเล็กน้อย แก้กามโรค แก้โรคหนองใน ตำกับสุราเอาน้ำรับประทาน เอากากตำพอกปิดแผล ถอนพิษงู ตะขาบ แมงป่อง และแก้ลมเป็นพิษ
  • ต้น มีรสเฝื่อนเมา ปรุงผสมกับสมุนไพรอื่นแก้โรคเรื้อน ฆ่าพยาธิที่ผิวหนัง

[su_spoiler title=”สารที่พบ : ” icon=”arrow”]
α – amyrin, rapanone ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา – ต้านเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้ง platelet activating factor receptor binding[/su_spoiler]

Scroll to top