กุ่มบก

กุ่มบก

ชื่อสมุนไพร : กุ่มบก
ชื่ออื่น :
ผักก่าม, (อีสาน) กุ่ม, ผักกุ่ม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crateva adansonii DC. subsp. trifoliata (Roxb.) Jacobs
ชื่อวงศ์ : Capparidaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นกุ่มบก เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูงได้ถึง 20 เมตร แตกกิ่งก้านโปร่ง กิ่งก้านมักคดงอ เปลือกสีน้ำตาลอ่อน ค่อนข้างเรียบหรือมีรอยแตกตามขวาง
  • ใบกุ่มบก เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 3 ใบ ออกเรียงสลับ ใบรูปไข่ กว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 2-10 เซนติเมตร ปลายใบแหลมมีติ่งสั้น โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ใบย่อยที่อยู่ด้านข้างโคนใบจะเบี้ยว เนื้อใบหนานุ่ม ผิวใบมัน แผ่นใบเรียบทั้งสองด้าน ก้านใบร่วมยาว 7-9 เซนติเมตร เส้นแขนงใบ 4-5 คู่
  • ดอกกุ่มบก ออกเป็นช่อกระจุก ตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกสีขาวเมื่อแรกบาน แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีชมพู กลีบดอกมี 4 กลีบ รูปรี ปลายมน โคนสอบเรียว เห็นเส้นบนกลีบชัดเจนคล้ายเส้นใบ โคนกลีบเป็นเส้นคล้ายก้าน กลีบเลี้ยงรูปรี กลีบเลี้ยงพอแห้งเปลี่ยนเป็นสีส้ม เกสรตัวผู้มีจำนวนมาก ก้านเป็นเส้นสีม่วง เกสรเพศเมียค่อนข้างยาว 1 อัน มีรังไข่เหนือวงกลีบ กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ ขนาดเล็ก
  • ผลกุ่มบก ผลสด รูปทรงกลม ขนาด 2-3.5 เซนติเมตร ผิวมีจุดสีน้ำตาลอมแดง เปลือกแข็ง ผลอ่อนมีสีเขียว พอสุกมีสีน้ำตาลแดง เมล็ดรูปเกือกม้าหรือรูปไต กว้าง 2 มิลิเมตร ยาว 6 มิลลิเมตร มีหลายเมล็ด ผิวเรียบ

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ, เปลือกราก, เปลือกต้น, แก่น, ดอก, ผล

สรรพคุณ กุ่มบก :

  • ใบ รสร้อน ต้มน้ำดื่มบำรุงหัวใจและขับลม ใบสดตำทาแก้กลากเกลื้อน แก้ตานขโมย นำใบสดบดละเอียดผสมน้ำซาวข้าว นำมาพอกผิวบริเวณที่บวมคันจากพยาธิตัวจี๊ด ใช้ผ้าพันไว้สักระยะ จะรู้สึกร้อนบริเวณนั้น ทำสามวันติดต่อกัน ตัวจี๊ดจะหยุดแสดงอาการ
  • ใบและเปลือกราก ใช้ทาถูนวดให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้น
  • เปลือกต้น รสร้อน แก้ปวดท้อง แก้ลงท้อง ขับผายลม แก้บวม บำรุงธาตุ คุมธาตุ กระตุ้นลำไส้ให้ย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ แก้ไข้ ขับน้ำเหลืองเสีย รักษานิ่ว บำรุงหัวใจ ทาแก้โรคผิวหนัง เป็นยาระงับประสาท เปลือกต้นนำมานึ่งให้ร้อนใช้ประคบแก้ปวด เปลือกต้นผสมกับเปลือกกุ่มน้ำ เปลือกทองหลางใบมน ต้มน้ำดื่ม เป็นยาขับลม เปลือกต้นผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดื่ม เป็นยาเจริญอาหาร และยาอายุวัฒนะ
  • แก่น รสร้อน แก้ริดสีดวงทวาร และอาการผอมเหลือง กระพี้ รสร้อน ช่วยทำให้ขี้หูแห้งออกมา ราก รสร้อน บำรุงธาตุ แก้มานกระษัยที่เกิดจากกองลม
  • ดอก เป็นยาเจริญอาหาร
  • ผล แก้ท้องผูก
  • ยอดอ่อนและช่อดอก  นำมาดองรับประทานเป็นผักได้ ผักกุ่มมีกรดไฮดรอไซยานิคซึ่งเป็นสารพิษ จึงต้องนำไปทำให้สุกหรือดองก่อนรับประทาน

[su_spoiler title=”วิธีและปริมาณที่ใช้ : ทาแก้โรคผิวหนัง” icon=”arrow”]
ใช้ใบโขลก ผสมเหล้าขาว ทาแก้โรคผิวหนัง ผดผื่นคัน ประเภท กลาก เกลื้อน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ [/su_spoiler]

Scroll to top