ขันทองพยาบาท

ขันทองพยาบาท

ชื่อสมุนไพร : ขันทองพยาบาท
ชื่ออื่น ๆ
:  ดูกใส, ยางปลอก, ยายปลวก, ดูกหิน, ข้าวตาก, มะดูกเลื่อม, ขันทอง, ขุนทอง, กระดูก, ป่าช้าหมอง, ดูกไทร, ขอบนางนั่ง, สลอดน้ำ, มะดูกดง, ข้าวตาก, ขนุนดง และ เจิง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Suregada multiflorum (A.Juss) Baill.
ชื่อวงศ์ Euphorbiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ต้นขันทองพยาบาท เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 7-13 เมตร ทรงพุ่มแน่นทึบ ลำต้นตรง กิ่งก้านอ่อน กิ่งห้อยลง กิ่งมีขนรูปดาว เปลือกต้นสีน้ำตาลแก่ ผิวบางเรียบ เนื้อไม้สีขาว
  • ใบขันทองพยาบาท เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปหอก กว้าง 3-8 เซนติเมตร ยาว 9-22 เซนติเมตร เนื้อใบหนาทึบ เหนียว หลังใบเรียบลื่นเป็นมัน ท้องใบเรียบสีอ่อนกว่า ฐานใบรูปหัวใจ ปลายใบเป็นติ่งยาว ขอบใบจักฟันเลื่อย ไม่มีขน มีต่อมใสๆ ขนาดเล็ก เส้นใบข้าง 5-9 คู่ ก้านใบยาว 2- 5 มิลลิเมตร ผิวใบด้านล่างมีต่อมสีเหลือง และมีขนรูปดาว หูใบขนาด 2 มม. แต่ละคู่เชื่อมกัน หลุดร่วงง่าย แต่ทิ้งแผลเป็นวงไว้
  • ดอกขันทองพยาบาท สีเขียวอมเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อสั้นๆ ตรงซอกใบ ขนาด 0.8-1 ซม. กลิ่นหอม ช่อละ 5-10 ดอก อยู่ตรงกันข้ามกับใบ มีใบประดับยาว 1 มม. กว้าง 0.7-0.8 มม. รูปหอก ตรงปลายแหลม ดอกแยกเพศ แยกต้น ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้ ขนาด 2.5 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้ 35-60 อัน แต่ละอันมีต่อมที่ฐาน อาจพบเกสรตัวผู้ที่เป็นหมันปะปนอยู่ด้วยฐานรองดอกนูนพองออก ดอกเพศเมีย ลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ รังไข่เหนือวงกลีบ มีขนหนาแน่น รังไข่มี 3 ช่อง ก้านเกสรตัวเมีย 3 อัน ปลายแยก รังไข่มีขนละเอียด มีหมอนรองดอก ก้านดอกยาว 5 มิลลิเมตร กลีบรองดอกมี 5 กลีบ หนา โคนเชื่อมกันเล็กน้อย ขอบจักเป็นซี่ฟัน
  • ผลขันทองพยาบาท เกือบกลม ผิวเกลี้ยง ขนาด 2 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียวเมื่อสุกมีสีเหลืองอมแสด แตกตามพู มี 3 พู มีติ่งเล็กๆที่ยอด เมล็ดค่อนข้างกลม หนึ่งผลมี 3 เมล็ด ขนาด 7-8 มิลลิเมตร สีน้ำตาลเข้ม มีเนื้อบางๆสีขาว (aril) หุ้มเมล็ด

ส่วนที่ใช้เป็นยา : เนื้อไม้, เปลือกต้น

สรรพคุณ ขันทองพยาบาท :

  • เนื้อไม้ จะมีรสเฝื่อนเมา ใช้รักษาอาการพิษในกระดูก ประดง รักษาโรคเรื้อน มะเร็งคุทราด กลากเกลื้อน ลมเป็นพิษ โรคผิวหนัง ฆ่าพยาธิ โรคผิวหนังทุกชนิด กามโรค
  • เปลือกต้น ใช้เป็นยาบำรุงเหงือก ใช้รักษาเหงือกอักเสบ และใช้เป็นยาถ่ายรักษาโรคตับพิการ โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน
Scroll to top