ชื่อสมุนไพร : จำปา
ชื่ออื่น ๆ : จัมปา, จำปากอ(มลายู ภาคใต้), จำปาเขา(ตรัง), จำปาทอง(นครศรีธรรมราช), จำปาป่า(สุราษฎร์ธานี), มณฑาดอย
ชื่อสามัญ : Champak
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Magnolia champaca (L.) Baill. ex Pierre
วงศ์ : MAGNOLIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
- ต้นจำปา เป็นไม้ยืนต้นลำต้นขนาดกลาง ลำต้นกลมสูงประมาณ 15-25 เมตร มีสีน้ำตาลปนขาวเล็กน้อย กิ่งเปราะ เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง ยอดอ่อนมีหูใบหุ้ม ลำต้นและกิ่งมีเส้นควั่นเป็นรอย และมีตุ่มเล็กๆ
- ใบจำปา ใบสีเขียวใหญ่เป็นมัน เดี่ยว เรียงเวียนสลับ แผ่นใบรูปรีแกมขอบขนาน ถึงรูปใบหอก กว้าง 4–10 ซม. ยาว 5–20 ซม. ปลายใบแหลม ใบกว้างประมาณ 5 นิ้ว ยาวประมาณ 10 นิ้ว โคนใบกลม มน หรือสอบ เส้นแขนงใบ 16–20 คู่ ก้านใบยาว 2–4 ซม. ใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ท้องใบมีขนอ่อนด้านล่าง
- ดอกจำปา เป็นดอกเดี่ยว มีขนาดใหญ่กว่าดอกจำปี มีสีเหลืองอมส้ม ออกตามง่ามใบ กลีบดอกยาว มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกรวมกัน 12–15 กลีบ กลีบด้านนอกรูปหอกกลับ ยาว 4–4.5 ซม. กว้าง 1–1.5 ซม. ปลายเรียวแหลม กลีบดอกชั้นในสั้นและแคบกว่าชั้นนอก เกสรเพศผู้มีจำนวนมากมีขนาดใหญ่กว่าดอกจำปี มีสีเหลืองอมส้ม รังไข่รวมกันเป็นแท่งสีเขียวอ่อน ยอดแหลมคล้ายฝักข้าวโพดเล็กๆ ก้านดอกยาว 1–2 ซม. เวลาบานกลีบใหญ่โค้งงอเข้าภายในดอก ไม่บานกระจายแบบดอกจำปี
- ผลจำปา รูปรี หรือรูปไข่ เปลือกแข็ง ขนาดยาว 1–2 ซม. ออกเป็นกลุ่ม เปลือกผลมีจุดสีขาวขรุขระโดยรอบ ผลแก่สีน้ำตาล แตกด้านข้าง
- เมล็ดจำปา เมล็ดสีดำ ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 ซม. เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงส้ม
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ดอก, เปลือก, ราก, ใบ, ยาง
สรรพคุณ จำปา :
- ดอกจำปา ช่วยบำรุงหัวใจ แก้ธาตุที่ไม่ปกติ ช่วยบำรุงธาตุ ระงับอาการเกร็ง และช่วยขับปัสสาวะ แก้วิงเวียนอ่อนเพลีย หน้ามืดตาลาย บำรุงหัวใจ กระจายโลหิต
- เปลือกต้นจำปา เป็นยาแก้ไข้ผิดสำแดง เสมหะในลำคอ แก้ไข้และขับปัสสาวะ แก้กุดฐัง ฝาดสมาน แก้ไข้ ทำให้เสมหะในลำคอเกิด
- รากจำปา นำมาทำเป็นยาถ่ายพยาธิได้ และช่วยขับประจำเดือนด้วย ขับโลหิตสตรีที่อยู่ในเรือนไฟให้ตก
- ใบจำปา นำใบมาตำแล้วคั้นเอาน้ำ ใช้แก้โรคอภิญญาน และโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ แก้โรคเส้นประสาทพิการ แก้ป่วงของทารก
- ยางจำปา กรีดยางนำมาทำเป็นยาแก้โรคริดสีดวงพลวก
- น้ำมันกลั่นจากดอก แก้ปวดศีรษะ แก้ตาบวม
- เนื้อไม้ บำรุงโลหิต
[su_quote]ดอก ของจำปามีการจำหน่ายในปริมาณสูง เพื่อนำมาร้อยมาลัยและเพื่อใช้ผสมในตำรับยาไทยแผนโบราณใช้แต่งกลิ่นอาหาร[/su_quote]